"พิชาย" แนะ "กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" ทำงานให้รอบคอบ-หวั่นผลงานไม่ถูกยอมรับ

"พิชาย"  แนะ "กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" ทำงานให้รอบคอบ-หวั่นผลงานไม่ถูกยอมรับ

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิด้า แนะ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ที่จะเริ่มประชุมนัดแรกพรุ่งนี้ ทำงานอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างการยอมรับ ประเมิน "ม็อบ" ยกระดับรุนแรง

      นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการอินไซด์รัฐสภา ประเมินว่าถึงสถานการณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะยากที่ถูกยอมรับจากกลุ่มผู้ชุมนุมภายนอกรัฐสภา หรือประชาชนวงกว้าง เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขโดยประชาชนถูกปฏิเสธในชั้นรับหลักการ ทำให้ประชาชนมองว่ารัฐสภาคือเป็นพื้นที่ปิด มีกระบวนการกีดกันภาคประชาชน และข้อเรียกร้องของประชาชนบางกลุ่มจึงไม่ได้รับการแก้ไขผ่านกลไกของรัฐสภา ซึ่งสถานการณ์จากนั้นคือการรวมตัวชุมนุมนอกรัฐสภามากขึ้น และส่งผลให้รัฐบาลตอบโต้การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น  
      “มีพูดกันหนาหูว่าจะฟื้นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้เกิดความไม่พอใจจากฝ่ายผู้ต่อต้าน ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อการประนีประนอมและทำให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ความรุนแรงในอนาคตได้ อีกทั้งมาตรา 112 เป็นกฎหมายจำเพาะในประเทศไทย หากใช้มาตรการดังกล่าวอาจทำให้ถูกต่างชาติจับตาในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ อย่างไรก็ตามประเด็นที่คลี่คลายได้ คือ การเจรจาหาทางออกร่วมกัน แต่หากคุยกันไม่ได้ ต้องลดกระแส ด้วย 2 แนวทาง คือ นายกฯ​ลาออก เพื่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่ หรือยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งและรัฐสภาชุดใม่” นายพิชาย กล่าว

      นายพิชาย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา ว่า เชื่อว่าจะเป็นกระบวนการทำงานปกติ แต่ในรายละเอียดที่สำคัญคือ ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านแตกต่างกัน หากนำวิธีการที่เสนอไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน ที่ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผสมกับผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อาจเป็นไปได้ แตตนไม่แน่ใจว่า ส.ส.ร. ที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัด จะได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นกรรมาธิการ ต้องพิจารณาให้รอบคอบ.