คนไทยไม่ได้มีความสุขที่สุดในโลก

คนไทยไม่ได้มีความสุขที่สุดในโลก

ประเทศที่ดูเหมือนมีคุณภาพชีวิตดี รายได้สูง อาชญากรรมต่ำ บางทีคนในประเทศก็ไม่ค่อยพึงพอใจกับชีวิตสักเท่าไหร่ แล้วสภาพแวดล้อมของประเทศแบบไหนทำให้คนมีความสุข...

โพลระดับโลกนี่ เค้าสำรวจอะไรกันเยอะแยะนะครับ อย่างที่เคยฮือฮาในบ้านเราก็คือ สำรวจ “ขนาดอวัยวะ” ของท่านชายที่จัดทำโดยบริษัทถุงยางอนามัยรายหนึ่ง

บริษัทแกลลัป ขาใหญ่ที่ทำโพลเรื่องต่างๆ จำนวนมาก เริ่มสำรวจเกี่ยวกับประสบการณ์ด้านอารมณ์ความรู้สึกประจำวันของคนชาติต่างๆ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 โดยใช้แบบสอบถามสั้นๆ รวม 5 คำถาม เพื่อวัดว่า คนที่ตอบคำถามเหล่านี้มีอารมณ์แบบ “บวกหรือลบ” ในวันก่อนหน้าที่จะตอบคำถาม

คำถามที่เลือกนำมาใช้ตรวจสอบอารมณ์เชิงบวก เช่น เมื่อวานนี้คุณยิ้มหรือหัวเราะบ่อยครั้งใช่หรือไม่ ? เมื่อวานนี้คุณเรียนรู้หรือได้ทำบางอย่างที่น่าสนใจใช่หรือไม่ ? เมื่อวานนี้คุณได้รับการปฏิบัติด้วยดีตลอดทั้งวันใช่หรือไม่ ?

ขณะที่คำถามถึงอารมณ์เชิงลบ เช่น เมื่อวานนี้คุณรู้สึกกังวลบ่อยครั้งหรือไม่ ? เมื่อวานนี้คุณรู้สึกเครียดบ่อยครั้งหรือไม่ ? เมื่อวานนี้คุณรู้สึกเศร้าบ่อยครั้งหรือไม่ ?

ทางบริษัทตั้งชื่อโพลนี้ว่า Gallup Global Emotion หรือ “อารมณ์โลกโดยแกลลัป” เพราะมองว่าน่าจะชี้ให้เห็นถึงสุขทุกข์ของคนชาติต่างๆ ในโลกได้

หัวหน้าคณะทำโพลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาบอกว่า แบบสอบถามนี้ใช้วัดอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งน่าจะใช้วัดระดับความสุขได้ โดยไม่ได้เอาตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์อย่างจีดีพี (GDP) มาใช้ และเป็นเสมือน “ภาพถ่าย” ที่หยุดเวลาขณะนั้นไว้ เพื่อให้บรรดาผู้นำชาติต่างๆ ได้แลเห็นถึง “สุขภาพจิต” ของคนในชาติของตนแบบที่วัดไม่ได้จากเงินรายได้เพียงอย่างเดียว

และเนื่องจากวิธีการและตัวชี้วัดที่ใช้ต่างกับที่ปราฏใน World Happiness Report (รายงานความสุขโลก) ของสหประชาชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลลัพธ์ชื่อประเทศระดับท้อปๆ จะแตกต่างกันไปบ้าง

โพลนี้ใหญ่โตมากนะครับ ในปี ค.ศ. 2016 สำรวจในผู้ใหญ่ถึง 147,000 คน ครอบคลุม 140 ประเทศทั่วโลก โดยใช้การสัมภาษณ์ เมื่อได้คำตอบที่เป็นค่าแบบข้อมูลดิบมาแล้ว ก็มีการนำมาแปลงให้เป็นคะแนนเต็ม 100 ทั้งอารมณ์บวกและลบ เพื่อให้นำมาเปรียบเทียบกันได้ง่ายๆ

เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ คะแนนดัชนีด้านบวกที่ประชากรโลกปีนี้ทำได้คือ 71 ซึ่งเท่ากับทั้งสองปีย้อนกลับไป ขณะที่ก่อนหน้านั้นอีกย้อนกลับไปได้ถึงปี 2006 ค่าดัชนีจะแกว่งอยู่ที่ 68–70 โดยปีนี้ชาติที่ทำคะแนนสูงสุดคือ ปารากวัย (84) ขณะที่ต่ำสุดคือ ซีเรีย (36) อันหลังนี่ไม่น่าแปลกใจ เพราะโดนภัยสงครามจนคนต้องอพยพออกนอกประเทศหลายล้านคน

คะแนนที่ได้จับกลุ่มอย่างน่าสนใจ กล่าวคือประเทศลาตินอเมริกาทำคะแนนอยู่อันดับท็อปๆ ผู้คนในประเทศเหล่านี้มี “อารมณ์บวก” เป็นส่วนใหญ่ ตามด้วยประเทศอุซเบกิสถาน อินโดนีเซีย และสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีผู้ตีความว่า “ความโน้มเอียงทางวัฒนธรรม” ของคนในประเทศเหล่านี้อาจมีผลมากต่อการตอบคำถาม

ลักษณะสังคมที่ให้เสรีภาพปัจเจกชนสูง คนชอบเข้าสังคมและเชื่อมโยงแบบออฟไลน์อย่างเข้มแข็งก็น่าจะมีส่วน ด้วยเหตุนี้เองแม้คนในลาตินอเมริกาจะไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็ดูเหมือนมีความสุขกับชีวิตมาก

ส่วนประเทศใดที่มีคะแนนอารมณ์บวกน้อยก็เช่น ซีเรีย (36) ตุรกีและเนปาล (51) และจอร์เจีย เซอร์เบีย กับอิรัก (54 เท่ากัน) กรณีซีเรียถูกสงครามกลางเมืองฉุดให้ได้คะแนนท้ายๆ มาตั้งแต่ปี 2012 ส่วนยูเครน อิรัก เยเมน และตุรกี ต่างก็มีความขัดแย้งทั้งภายในและกับนอกประเทศคล้ายคลึงกัน ขณะที่เนปาลได้รับอิทธิพลจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 2015

เรื่องหนึ่งที่น่าดีใจก็คือ คนทั่วโลกยังคงมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอยู่ไม่น้อย คนมากถึงราว 3 ใน 4 ที่ตอบแบบสอบถามนี้ (72%) ยืนยันว่า ตัวเองยังยิ้มหรือหัวเราะได้บ่อยๆ และมีครึ่งหนึ่ง (51%) ที่ระบุว่าตนเองยังได้เรียนรู้หรือทำบางอย่างที่น่าสนใจ

มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้นคือ ยูเครน อิรัก เติร์กเมนิสถาน เนปาล เซอร์เบีย ซีเรีย และตุรกี ที่คะแนนตกลงไปอยู่ที่ 50% หรือต่ำกว่า ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะได้คะแนนในหมวดนี้ต่ำเช่นกัน

คราวนี้มาดูประสบการณ์ของอารมณ์เชิงลบบ้าง

ราว 1/3 กล่าวว่าตัวเองมีความกังวลใจ (36%) หรือไม่ก็ความเครียด (35%) และมี 28% ที่มีความเจ็บปวดทางกาย อารมณ์ลบที่พบน้อยกว่าคือราว 1/5 คือ ความเศร้าโศก (21%) และความโกรธ (20%)

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ค่าดัชนีในหมวดนี้พุ่งขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 28 มากกว่าทุกปีที่เคยสำรวจ โดยใน 6 ปีแรกดัชนีจะอยู่ที่ 23–24 และมาเพิ่มเป็น 25–27 ในปีหลังๆ

ที่น่าสนใจคือ ในการจัดอันดับแบบนี้สิงคโปร์เคยติดอันดับชาติที่ “มีอารมณ์ความรู้สึกน้อยที่สุด” ด้วย ซึ่งวิเคราะห์กันว่าเกิดจากระบบการศึกษาที่ทำให้นักเรียนไม่กล้าแสดงความเป็นตัวเองมากนัก นอกจากนี้ ยังมีผู้ชี้ถึงความเป็นไปได้ว่าการอาศัยแออัดในเมือง (82% อาศัยอยู่ในบ้านแบบสวัสดิการจากรัฐ) มีการแข่งขันสูงในเรื่องต่างๆ และยังมีความพึงพอใจเกี่ยวกับงานที่ทำต่ำอีกด้วย เห็นได้ว่าแม้แต่ประเทศในแถบนี้ที่ดูเหมือนมีคุณภาพชีวิตสูง มีรายได้ดี มีความสงบสุข อาชญากรรมต่ำ แต่คนกลับรู้สึกตัวว่าคล้ายหุ่นยนต์และไม่ค่อยพึงพอใจกับชีวิตสักเท่าไหร่

สำหรับคนไทยนั้นในรายงานไม่ได้ให้ข้อมูลดิบไว้อย่างละเอียด แต่เมื่อดูจากสีที่ใช้เปรียบเทียบระดับ (ในแผนที่โลก) แล้ว แม้เราจะไม่ติดอันดับชีวิตลั้ลลาสุดๆ แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายนัก

คนไทยได้คะแนนอันดับกลางๆ ค่อนไปทางมาก

ครับ เมื่อใช้ตัวชี้วัดแบบนี้ คนไทยก็ไม่ได้มีความสุขที่สุดในโลก ซึ่ง...ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ !