เปิดเงื่อนไขสัมปทาน ยืดสัญญา “บีทีเอส”

เปิดเงื่อนไขสัมปทาน  ยืดสัญญา “บีทีเอส”

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอวาระจรเพื่อพิจารณา ในเรื่องของเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอวาระจรเพื่อพิจารณา ในเรื่องของเสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะขยายสัมปทานให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในฐานะผู้บริการรายเดิมต่ออีก 30 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602 และให้คิดอัตราค่าโดยสารไว้ที่ 65 บาทตลอดสาย

ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่ไม่น้อย เนื่องจากร่างสัญญาดังกล่าว เป็นการพิจารณาก่อนระยะเวลาที่สัมปทานเดิมของการบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในสัญญาปัจจุบันจะหมดอายุลงเป็นระยะเวลาถึง 8 ปี เนื่องจากขณะนี้บีทีเอสถือสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหลัก สายสุขุมวิท (หมอชิต - อ่อนนุช) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน) จะสิ้นสุดในปี 2572

ขณะเดียวกัน การเดินรถเส้นทางส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่ อ่อนนุช - แบริ่ง วงเวียนใหญ่ – บางหว้า) กทม. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและติดตั้งงานระบบ โดยจ้างให้ BTSC เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ สัญญาจ้างมีระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2555 – 2585

ส่วนเส้นทางต่อขยายช่วงที่ 2 (แบริ่ง - การเคหะ และหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการลงทุนก่อสร้าง หลังจากนั้นได้โอนโครงการให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการแทน รวมทั้ง กทม.จะต้องรับภาระหนี้จาก รฟม.ด้วย ในวงเงินราว 5.5 หมื่นล้านบาท ไม่รวมอัตราดอกเบี้ย ปัจจุบัน กทม.ได้ว่าจ้างบีทีเอสเป็นผู้ทดสอบการเดินรถ

จากข้อมูลดังกล่าว จึงจะเห็นได้ว่าการเร่งรัดจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อาจเป็นการเร่งดำเนินการเกินไปหรือไม่ แต่แท้จริงแล้ว เรื่องนี้มีคำตอบนับตั้งแต่ กทม.เคยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น และสอบถามความสนใจของภาคเอกชนในการร่วมลงทุนสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงที่ 2 (แบริ่ง - การเคหะ และหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต) ในราวปี 2561 แต่กลับไม่มีเอกชนแสดงความสนใจร่วมลงทุน

ผลจากการเปิดเวทีสอบถามความสนใจภาคเอกชนที่ไม่มีเอกชนรายอื่นพร้อมเข้ามารับสัมปทาน ท้ายที่สุดจึงมีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 โดยมีหลักการให้เอกชนคือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไปอีก 30 ปี จะเริ่มนับหนึ่งหลังสัมปทานสายหลักสิ้นสุดในวันที่ 4 ธ.ค. 2572 - 4 ธ.ค. 2602

ทั้งนี้ การต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวมีเงื่อนไขระบุ อาทิ

1.บีทีเอสต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ แทน กทม.โดยมีการคำนวณภาระทางการเงินของ กทม.อยู่ที่กว่า 1 แสนล้านบาท ประกอบไปด้วย ภาระหนี้และภาระขาดทุนจากโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงที่ (สะพานตากสิน – วงเวียนใหญ่ อ่อนนุช - แบริ่ง วงเวียนใหญ่ – บางหว้า) และภาระหนี้จากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 มาจาก รฟม.

2.กทม.จะต้องได้รับส่วนแบ่งจากค่าโดยสารทุกปี

3.กำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายตามระยะทาง เริ่มต้น 15 บาท สูงสุดอยู่ที่ 65 บาท ปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค

4.ปรับปรุงบริเวณสถานีตากสิน วงเงินประมาณ 1.4 พันล้านบาท โดยบีทีเอสจะต้องเป็นผู้ดำเนินการลงทุนทั้งหมด

โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของ กทม.เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของแนวทางร่วมลงทุนขยายสัญญาเอกชนรายเดิม ในกรณีเร่งดำเนินการก่อนสัญญาสัมปทานส่วนหลักจะสิ้นสุดลงในปี 2572 พบว่าข้อดีมี 4 ประเด็น ได้แก่

1.กทม.ไม่ต้องรับภาระหนี้และเงินลงทุนเพิ่มเติม มูลค่ากว่า 102,000 ล้านบาท

2.เอกชนรับความเสี่ยงด้านรายได้/ค่าใช้จ่าย โดย กทม.ได้ส่วนแบ่งรายได้กว่า 220,000 ล้านบาท

3.ไม่เสียค่ายกเลิกสัญญาจ้างเดินรถ 2 ส่วน ที่มีกำหนดจะสิ้นสุดในปี 2585 มูลค่า 240,000 ล้านบาท และไม่เสียค่ายกเลิกสัญญาสัมปทานส่วนหลักที่จะสิ้นสุดในปี 2572 เนื่องจากเป็นการเจรจากับเอกชนรายเดิม

4.ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท

ขณะที่ข้อเสียของการเลือกแนวทางดังกล่าวมี 2 ประเด็น ได้แก่

1.ไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายปกติ เนื่องจากเป็นการยึดใช้ตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562

2.ไม่มีการแข่งขันด้านราคาจากเอกชนรายอื่น

ด้าสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า บีทีเอสได้มีข้อเสนอในการต่อสัญญาสัมปทานระบุถึงการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ กทม.ทุกปี อีกทั้งอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย เป็นราคาที่กำหนดการเดินรถในระยะทางที่ให้บริการทั้งหมด 67 กม.ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยประมาณการณ์ราคาตลอดสายอยู่ที่ราว 158 บาท เป็นการคิดค่าแรกเข้าส่วนต่อขยายหลายครั้ง แต่ราคาไม่เกิน 65 บาทนี้ จะคิดค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว