ไทม์ไลน์ 'โรงไฟฟ้าชุมชน' บทพิสูจน์ 'กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก'

ไทม์ไลน์ 'โรงไฟฟ้าชุมชน' บทพิสูจน์ 'กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก'

การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศจะต้องร่วมมือกันให้เกิดความต่อเนื่องในปี 2564 และการลงทุนในภาคพลังงานถือเป้ฯอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า

กระทรวงพลังงาน วางไทม์ไลน์เดินหน้าพัฒนา “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16พ.ย.2563 อนุมัติหลักเกณฑ์ฯใหม่ “โรงไฟฟ้าชุมชน” อย่างเป็นทางการ

กรอบระยะเวลาขับเคลื่อน “โรงไฟฟ้าชุมชน” ปี2564

- ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2563 กระทรวงพลังงาน จะทำความเข้าใจกับเอกชน-วิสาหกิจชุมชน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไข โรงไฟฟฟ้าชุมชน

- ช่วงเดือน ม.ค. 2564 เตรียมออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน

- ช่วงเดือน ก.พ.2564 เปิดยื่นประมูลแข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า (Competitive Bidding)

- ช่วงต้นเดือน เม.ย.2564 ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ “โรงไฟฟ้าชุมชน”

- จัดทำโครงการนำร่องเป้าหมาย 150 เมกะวัตต์

แบ่งเป็น ชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และ ก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย อัตราส่วนไม่เกิน 25%)

- เชื้อเพลิงชีวมวล กำหนดปริมาณไฟฟ้า เสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อแห่ง

- เชื้อเพลิงชีวภาพ กำหนดปริมาณไฟฟ้า เสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อแห่ง

- กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน หรือ 3 ปี นับถัดจากวันลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รับซื้อไฟฟ้าตลอด 20 ปี

- กำหนดเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบประมูลแข่งขันทางด้านราคาค่าไฟฟ้า

- กำหนดให้วิสาหกิจชุมชน หรือ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เข้าถือหุ้นบุริมสิทธิ 10%

- กำหนดให้เอกชนเป็นผู้เสนอโครงการ และต้องเสนอผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆให้กับโรงไฟฟ้าและชุมชนทำข้อตกลงกัน

- กำหนดให้โรงไฟฟ้าต้องมีพื้นที่ปลูกพืชใหม่ ไม่ต่ำกว่า 80% และเอกชนสามารถจัดซื้อจากแหล่งอื่นๆ ได้ 20% (ประเมินว่า กำลังผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่ปลูกพืชประมาณ 1,000 ไร่)

160586329050

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขั้นตอนจากนี้ กระทรวงพลังงาน จะเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจรายละเอียดวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้กับภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ดำเนินการยื่นเสนอโครงการได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพราะโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นเรื่องใหม่ และเป็นนโยบายที่ดีที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศในปี 2564

ขณะที่รายละเอียดปลีกย่อยในหลักเกณฑ์ปฏิบัติ จะทยอยประกาศออกมาอีกครั้งในเร็วๆนี้ ทั้ง วิธีการเปิดประมูลแข่งขัน ที่ขอย้ำว่า เป็นการประมูลในส่วนของการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ใช่การประมูลแข่งขันค่าเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการการันตีผลตอบแทนด้านรายได้จากการปลูกพืชเป็นวัตถุดิบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นภาระต่ออัตราค่าไฟฟ้าของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป รวมถึงการกำหนดบทลงโทษเพื่อป้องกันเอกชนละทิ้งโครงการ ซึ่งจะต้องกำหนดให้วางเงินค้ำประกันทั้งกับภาครัฐและกับชุมชนด้วย

160586330386

แหล่งข่าววงการผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มองว่า หลักเกณฑ์ฯใหม่ “โรงไฟฟ้าชุมชน” ที่คลอดออกมาแม้ว่าจะไม่ถูกใจภาคเอกชนนัก เนื่องจากเป็นการกำหนดให้ประมูลแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะเป็นการกดอัตราผลตอบแทนที่ไม่จูงใจมากนัก และยังสับสนกับวิธีการประมูลที่แยกค่าเชื้อเพลิงกับค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า แต่ก็เชื่อว่า ยังเป็นโครงการที่เอกชนสนใจลงทุน โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพยฯ เพราะสามารถนำไปสร้างมูลค่าให้กับหุ้นในอนาคตได้ เพราะการันตีรับซื้อไฟฟ้าตลอด 20 ปี

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า การรับซื้อไฟฟ้า “โรงไฟฟ้าชุมชน” ขนาด 150 เมกะวัตต์ จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวม 10,300 ล้านบาท