ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดหาสีเขียว

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดหาสีเขียว

ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจัดหาสีเขียวร่วมกับซัพพลายเออร์ การทำให้ผู้บริหารขององค์กรตนเองและสมาชิกอื่น ๆ ในโซ่อุปทานตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการร่วมมือกันภายในโซ่อุปทานเพื่อการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม

จากการศึกษางานวิจัยในอดีตพบว่า การจัดการโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain Management) ในทุกภาคอุตสาหกรรมจะประสบความสำเร็จได้ล้วนมีความเกี่ยวพันโดยตรงกับประสิทธิภาพของการจัดหาสีเขียว (Green Procurement) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจค้าปลีกที่เป็นการจัดหาสินค้าจากซัพพลายเออร์จำนวนมากมาจำหน่าย ซึ่งต่างกับกรณีของผู้ผลิตสินค้า (Manufacturer) ที่นอกจากการจัดหาวัตถุดิบ ยังต้องไปเกี่ยวข้องกับ (1) การออกแบบสีเขียว (Green Design) ที่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำให้กระบวนการผลิตและการอุปโภคบริโภคตลอดวงจรชีวิตของสินค้านั้น ๆ มีการสิ้นเปลืองพลังงานและลดการปล่อยก๊าซพิษให้น้อยที่สุด

และ (2) การผลิตสีเขียว (Green Manufacturing) ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซพิษและเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิต โดยการเน้นไปที่การเลือกเทคโนโลยีและวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ตลอดจนการวางตารางการผลิตสีเขียวที่ลดการปล่อยของเสียและประหยัดการใช้ทรัพยากร ซึ่งจะเห็นได้ว่า บทบาทของการจัดหาสีเขียวของธุรกิจค้าปลีก ที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตสินค้าโดยตรง จึงอยู่ในรูปแบบของการจัดหาผลิตภัณฑ์จากซัพพลายเออร์ที่ทำการออกแบบและมีกระบวนการผลิตสีเขียวแทน

หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของการจัดหาสีเขียวคือ การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร กล่าวคือ ความเข้าใจในความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและการสนับสนุนอย่างจริงจังของผู้บริหารระดับสูงจะสามารถสร้างความแตกต่างที่สำคัญต่อความสำเร็จในการจัดการโซ่อุปทานสีเขียว เช่น กรณีของ Walmart ที่ผู้บริหารระดับสูงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตลอดโซ่คุณค่า (Value Chain) โดย Lee Scott อดีตซีอีโอของ Walmart ได้เคยกล่าวไว้ว่า การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรจะส่งผลเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การใช้ความร่วมมือกันภายในโซ่อุปทานจะสามารถจัดการอีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือได้ นอกจากนี้ Lee Scott ยังมองอีกด้วยว่าผลประโยชน์ที่ไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเงินจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของ Walmart คือ ค่าความนิยมสาธารณะ (Public Goodwill) และหลักประกันด้านอุปทานที่ดีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อธุรกิจค้าปลีกมากกว่าตัวผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง

Amazon บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติสัญชาติอเมริกันที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ได้ร่วมก่อตั้ง The Climate Pledge ที่มีองค์กรร่วมลงนาม 11 แห่ง โดยตกลงที่จะตรวจวัดและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำ รวมถึงการใช้กลยุทธ์การลดคาร์บอนตามข้อตกลงปารีสผ่านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและนวัตกรรมที่แท้จริง อาทิ การใช้พลังงานหมุนเวียน การลดการใช้วัสดุ และการลดการปล่อยมลพิษ ด้วยความมุ่งมั่นด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของ Amazon จึงได้เกิดโครงการ Frustration-Free Packaging ที่ทำร่วมกับซัพพลายเออร์ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ของ Amazon เอง ให้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เปิดง่ายและสามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถลดการใช้บรรจุภัณฑ์ได้มากกว่า 900,000 ตันหรือเทียบเท่ากับ 1.6 พันล้านกล่อง

หรือกรณีของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Waste และ Zero Carbon ก็เป็นผลพวงมาจากการกำหนดยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของเครือที่ต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 12 เป้าหมายหลัก ตาม SDGs ของสหประชาชาติ โดยได้ประกาศนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมไปถึงบริษัทย่อยอื่น ๆ ในเครือ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยมีตัวอย่างของยุทธศาสตร์ระดับองค์กรที่ใช้กับการค้าปลีกและการกระจายสินค้าของเซเว่นอีเลฟเว่น คือ '7 Go Green' ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน โดยรณรงค์ให้พนักงานและผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน เอสซีจี ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงจนได้รับการประเมินและจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของดัชนีวัดความยั่งยืนระดับโลก Dow Jones Sustainability Indices ในสาขาอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ในประเด็นนโยบายสิ่งแวดล้อมและระบบการจัดการ (Environmental Policy and Management Systems)

ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจัดหาสีเขียวร่วมกับซัพพลายเออร์ การทำให้ผู้บริหารขององค์กรตนเองและสมาชิกอื่น ๆ ในโซ่อุปทานตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการร่วมมือกันภายในโซ่อุปทานเพื่อการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นลำดับแรก