'ช้อปดีมีคืน' กับ 3 เรื่องเข้าใจผิด ที่ทำให้เสียโอกาส 'ลดหย่อนภาษี'

'ช้อปดีมีคืน' กับ 3 เรื่องเข้าใจผิด ที่ทำให้เสียโอกาส 'ลดหย่อนภาษี'

ข้อเข้าใจผิดที่มักพบบ่อย ในการร่วมโครงการ "ช้อปดีมีคืน" ที่อาจทำให้คุณเสียสิทธิ์ "ลดหย่อนภาษี" ปี 63 ไปโดยปริยาย

ในช่วงปลายปีแบบนี้หลายคนกำลังมองหาสิทธิประโยชน์ในการ "ลดหย่อนภาษี" ที่ช่วยให้ประหยัดภาษีจากเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2563 ที่จะต้องยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2564 ผู้มีเงินได้สามารถเลือกใช้สิทธิ์โครงการ "ช้อปดีมีคืน" เป็นหนึ่งในทางเลือกลดหย่อนภาษีได้

ทว่า หลายคนยังคงสับสนกับเงื่อนไขของโครงการ จนเกิดความเข้าใจผิด ที่อาจทำให้เสียสิทธิ์การลดหย่อนภาษีไปดื้อๆ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวม 3 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ช้อปดีมีคืน" ที่มักเข้าใจผิดเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่ควรจะเป็น ดังนี้

  •  ความเข้าใจผิดที่ 1 : ใช้ "ช้อปดีมีคืน" กับ "คนละครึ่ง" คุ้มแบบ 2 เด้ง ... ผิด!

"ช้อปดีมีคืน" กับ "คนละครึ่ง" 2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลที่ปล่อยออกมาพร้อมๆ กัน ทำให้หลายคนสับสนระหว่างคุณสมบัติของ 2 โครงการนี้ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือบางคนหวังใช้สิทธิ์จากทั้ง 2 โครงการ เพื่อให้ได้ลดหย่อนแบบ 2 เด้ง

ความเป็นจริงแล้ว 2 โครงการนี้จะต้องเลือกใช้ "ช้อปดีมีคืน" หรือ "คนละครึ่ง" อย่างใดอย่างหนึ่ง หมายความว่าผู้มีเงินได้ทุกคนจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจะต้องเลือกโครงการที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุดเพียงโครงการเดียว ไม่สามารถใช้ทั้ง 2 โครงการได้

โดย "คนละครึ่ง" เหมาะกับคนที่ต้องการให้รัฐช่วยค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สูงสุด 3,000 บาทตลอดโครงการ ขณะเดียวกันต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่โครงการกำหนดและลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตามช่วงเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียน 

ส่วน "ช้อปดีมีคืน" เหมาะกับผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้สุทธิในระดับที่ต้องเสียภาษีอัตราต่างๆ ซึ่งจะสามารถใช้เอกสารจากการซื้อสินค้าในประเภทที่โครงการกำหนดมาลดหย่อนได้ในอัตราภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  •  ความเข้าใจผิดที่ 2 : "ช้อปดีมีคืน" ยิ่งช้อปเยอะยิ่งดี ... ผิด!

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่อาจทำให้คุณได้ไม่คุ้มเสีย คือเข้าใจว่า "ช้อปดีมีคืน" ยิ่งช้อปเยอะยิ่งคุ้ม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ช้อปดีมีคืนจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราช้อปเยอะหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไร 

ถ้าคุณมีรายได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 25,833.33 (หรือมีเงินได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาท) ไม่จำเป็นต้องรอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เพราะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว หมายความว่าต่อให้ใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนเต็มวงเงินสูงสุด 30,000 บาท ก็ไม่ได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี หรือไม่ช่วยให้ประหยัดภาษีเลย   

แล้วทำยังไงถึงได้ลดหย่อนภาษีเต็มสตรีมจาก "ช้อปดีมีคืน" ?

- 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี จากโครงการช้อปดีมีคืน 
- 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท 
- 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด6,000 บาท
- 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด7,500 บาท
- 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท

  •  ความเข้าใจผิดที่ 3 : เก็บแค่ "ใบเสร็จรับเงิน" ก็ใช้ลดหย่อนได้ ... ผิด!

ความเข้าใจผิดที่ทำให้เสียสิทธิ์ไปแบบฟรีๆ คือการเก็บหลักฐานเอกสารการช้อปไม่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ "ช้อปดีมีคืน" ดังนั้น สำหรับคนที่ต้องการใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน จะต้องขอ "ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ" หรือ "ใบเสร็จรับเงิน" (ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่จดทะเบียน VAT) ซึ่งเอกสารต้องมีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นความจริง

"ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ" มีลักษณะสำคัญที่สังเกตได้ ดังนี้ 

1. ต้องมีคำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เด่นชัด

2. ต้องมี ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรการ 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเชขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า และหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

 "ใบเสร็จรับเงิน" มีลักษณะสำคัญที่สังเกตได้ ดังนี้ 

1. เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย

2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย

3. เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน

4. วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน

5. ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ

6. ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ

7. จํานวนเงิน