กพท.ดันไทยขึ้นฮับการบิน เตรียมปลดล็อคเที่ยวบินต่อเครื่อง เริ่มปีใหม่นี้

กพท.ดันไทยขึ้นฮับการบิน เตรียมปลดล็อคเที่ยวบินต่อเครื่อง เริ่มปีใหม่นี้

กพท.เตรียมปลดล็อคเที่ยวบินอินเตอร์กึ่งพาณิชย์ใช้ไทยเป็นฮับต่อเครื่องไปจุดหมายปลายทางที่ 3 สนองนโยบายนายกรัฐมนตรี เริ่มฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน คาดเริ่มใช้ช่วงเทศกาลปีใหม่

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างพิจารณาแนวปฏิบัติ สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศแบบกึ่งพาณิชย์ที่มีผู้โดยสารต่อเครื่อง (Transfer) ด้วยการลงจากเครื่องบินและไปต่อเครื่องบินลำอื่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ต่อยอดจากมาตรการก่อนหน้านี้ที่เปิดให้สามารถต่อเครื่องได้เฉพาะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ โดยนโยบายดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ผู้โดยสาร และผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) เชื่อมต่อการเดินทางไปยังปลายทางประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี กทพ.อยู่ระหว่างเร่งพิจารณาแนวปฏิบัติฯ เพื่อเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะสามารถนำไปใช้ดำเนินการได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ สำหรับแนวทางปฏิบัตินี้ กพท.ยืนยันว่า ได้ประเมินมาจากแนวทางดำเนินงานของประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เพื่อให้เป็นแนวทางที่เหมาะสม และทำให้ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคโควิด-19 มากที่สุด

สำหรับเบื้องต้นจะใช้แนวทางเดียวกันกับแนวปฏิบัติในการต่อเครื่องระหว่างเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำที่ กพท. ออกประกาศไปก่อนหน้านี้ เช่น

  • กำหนดเส้นทางและพื้นที่เฉพาะสำหรับการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร
  • แบ่งแยกพื้นที่การใช้งานออกจากบริเวณอื่นๆ ของสนามบิน
  • กำหนดเวลาในการอยู่ที่สนามบินสูงสุดไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ชม.) เพื่อลดโอกาสการรับสัมผัสเชื้อ

“ขณะนี้เรากำลังพิจารณากันอยู่ว่า จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้โดยสารที่ลงจากเครื่องบินและไปต่ออีกเครื่องบินหรือไม่ ซึ่งจากการพิจารณาของประเทศต่างๆ พบว่า ไม่ตรวจ ดังนั้นแนวโน้มของประเทศไทยก็อาจไม่ตรวจ จะตรวจเพียงแค่การวัดอุณหภูมิเท่านั้น เพราะผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าประเทศ เป็นการเดินทางผ่านสนามบินเท่านั้น”

รายงานข่าวจาก กพท. ยังระบุด้วยว่า แนวทางปฏิบัติคัดกรองผู้โดยสารที่จะเดินทางมาต่อเครื่องนี้ จะยังกำหนดอนุญาตเฉพาะบุคคลที่อยู่ใน 11 กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นให้เข้าประเทศไทยได้เท่านั้น ซึ่งการเปิดให้ดำเนินการเรื่องนี้ได้จะเกิดประโยชน์ทั้งสายการบิน และสนามบิน เพราะจะเป็นอีกมาตรการที่ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินให้เริ่มมีรายได้ และเตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว 100%