ต่างชาติทิ้งหุ้น-บอนด์หนีคุมบาท ธปท.รับ 5 ปีแทรกแซงแสนล้านดอลล์

ต่างชาติทิ้งหุ้น-บอนด์หนีคุมบาท  ธปท.รับ 5 ปีแทรกแซงแสนล้านดอลล์

ผู้ว่าธปท.ลั่นพร้อมใช้มาตรการแทรกแซงค่าเงิน​ ช่วยผู้ส่งออกลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะงัก-ดีมานด์ตก ยัน​ 5 ปีใช้เงินแทรกแซงแล้วกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์

ด้านบล.เอเซียพลัส คาดมาตรการไม่รุนแรงแค่ลดออกพันธบัตร ขณะที่ต่างชาติลดเสี่ยงแห่ขายหุ้น-ตราสารหนี้กว่า 8 พันล้านบาท กดค่าเงินอ่อนยวบแตะ 30.40 บาทต่อดอลลาร์

นายเศรษฐพุฒิ​ สุทธิวาทนฤพุฒิ​ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ที่แข็งค่าว่า​ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แสดงความกังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว​ เนื่องจาก โดยปกติ ถ้าสภาวะปกติการแข็งค่า อาจไม่กระทบชัดเจนต่อยอดการส่งออก แต่ที่ชัดเจนคือกระทบมาร์จินของผู้ส่งออก​ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะงัก ทำให้ดีมานด์ตกและประสบปัญหาหนี้​ ทำให้สายป่านของผู้ส่งออกได้รับผลกระทบ

 “เป็นเรื่องที่เรากังวลมาก ถ้าสายป่านสั้น​ โอกาสที่ผู้ส่งออกจะประสบปัญหา จึงสูงขึ้น​ส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อ​ ดังนั้น​รอบนี้ กนง.จึงกังวลเป็นพิเศษ” 

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า​ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว​ เนื่องจากมีข่าวเรื่องวัคซีนที่ออกมาทำให้ค่าเงินบาทแข็ง หากมีวัคซีนแล้ว การท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมา การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเกินดุลมากขึ้น ทำให้คนคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะแข็ง สิ่งที่น่าห่วง​ คือ ข่าววัคซีนออกมาทำให้ค่าเงินบาทแข็ง สำหรับมาตรการที่จะออกมาดูแลนั้น​ อยู่ในขั้นพิจารณามาตรการที่เหมาะสม​ ซึ่งจะต้องดูในภาพรวม ไม่ใช่แค่จะมีผลอย่างไรต่อค่าเงิน​ จะต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงด้วย

“เราอยู่ในขั้นพิจารณามาตรการที่สมควร​ ขอเรียนว่า​ เข้าใจว่า​ มีคนลำบากและกังวล​ ขอย้ำว่า​ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ​ บางทีคนเห็นค่าเงินแข็ง​ คิดว่าเราไม่ได้ทำอะไร​ การที่เราไม่ได้ชี้แจง​ ไม่ได้หมายค​วา​มว่า​ ไม่ทำอะไร​ เช่น​ เรื่องของดอกเบี้ย​ตอนนี้อยู่ที่​ 0.5% เป็นดอกเบี้ยต่ำสุดประวัติการณ์และต่ำสุดในภูมิภาค​ และ​ 5 ปีที่ผ่านมา​ ทุนสำรองเราเพิ่ม​ 1 แสนล้านดอลลาร์​ มาจากเราเข้าไปซื้อดอลลาร์เพื่อชะลอเงินบาทที่แข็งค่า​ สะท้อนว่า​ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ การที่ทุนสำรองเพิ่มไม่ได้เป็นสิ่งที่พึงประสงค์​ ลองนึกภาพบาทแข็ง​ 1 บาท​ มีความเสียหายเกิดขึ้น​ ในแง่ของการตีมูลค่าก็จะลดลงไป 1 แสนล้านเช่นกัน"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้(20พ.ย.) ธปท.จะชี้แจงถึงความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และคาดว่าจะประกาศมาตรการดูแลค่าเงินบาทด้วย ซึ่งบล.เอเซียพลัส คาดว่าจะเป็นมาตรการที่ไม่ส่งผลรุนแรงต่อตลาด เช่นการลดการออกพันธบัตรระยะสั้นของธปท.

คาดมาตรการวันนี้ไม่รุนแรง

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ประเด็นสําคัญคือทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าเร็วและแรงราว 2.5% นับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.ถึงปัจจุบัน และแข็งค่ามากกว่าเพื่อนบ้าน อาทิ ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 0.2% มาเลเซียแข็งค่า 0.32% เงินบาทที่แข็งค่าแรงกว่าจะกระทบต่อผู้ส่งออก เพราะทําให้ราคาสินค้าไทยดูแพงกว่าในเชิงเปรียบเทียบ และผู้ส่งออกแลกเงินกลับมาได้น้อยลง ทําให้วันนี้ กนง. เตรียมจะเผยแนวทางมาตรการดูแลค่าเงินบาทชะลอการแข็งค่าอีกครั้ง เหมือนในอดีตในปี 2562 ที่ธปท.เคยออกมาตรการซึ่งมีผลต่อตลาดเงินไม่ได้รุนแรงหรือทำให้ตลาดกังวลเช่นลดการออกพันธบัตรฯลฯ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 ธปท.ออกมาตรการครั้งแรก เพื่อลดการเก็งกําไรค่าเงิน โดยลดการออกพันธบัตร หลังประกาศเงินบาทอ่อนค่า 0.55% ต่อมา 7 ส.ค. 2562 ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 4 ปี พบว่า เงินบาทอ่อนค่า 0.53% และ 6 พ.ย.2562 ธปท.ลดดอกเบี้ยฯและออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทครั้งที่ 2 อาทิ ยกเว้นนํารายได้กลับเข้าประเทศ พบว่าเงินบาทอ่อนค่า 0.63% ในส่วนรอบนี้บล.เอเชียพลัส คาดว่าจะมาตรการที่ออกมาจะไม่รุนแรง ซึ่งตลาดคาด คือลดการออกพันธบัตรฯลฯ

เชื่อปีนี้ไม่หลุด30บาท/ดอลล์

บล.เอเชียพลัส ระบุด้วยว่าแนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะแกว่งตัวในทิศทางแข็งคค่าบริเวณ 30-30.50 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าไม่น่าจะหลุดบริเวณ 30 บาทต่อดอลลาร์ ในส่วนแนวโน้มระยะยาว ที่อิง ConsensusในBloomberg ล่าสุด ยังประเมินเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 30.40-30.80 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่ในเดือนพ.ย.2563 เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากถึง 2.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาแรง 14.2% บวกกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 2.5% เป็นผลตอบแทนรวม 16.7% ประเด็นอยู่ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแรงส่งผลให้ธปท.เตรียมออกมาตรการควบคุมค่าเงินบาทชะลอการแข็งค่าเพื่อช่วยธุรกิจส่งออก ซึ่งการที่ค่าเงินกลับมามีโอกาสอ่อนค่า ส่งผลให้ต่างชาติลังเลลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น เพราะมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และยังสอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 5 ปี ที่ทุกๆค่าเงินบาทอ่อนเฉลี่ย 1% จะส่งผลให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเฉลี่ยราว 7.8 พันล้านบาท ดังนั้นเงินทุนไหลเข้าอาจน้อยลงในช่วงสั้นและลดความร้อนแรงของดัชนีหุ้นไทย

ต่างชาติขายหุ้น-บอนด์

ดัชนีหุ้นไทยปิดวานนี้ที่ระดับ 1,369.42 จุด เพิ่มขึ้น 4.83 จุด หรือ 0.35% มูลค่าการซื้อขาย 82,325.27 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์ระบุว่าตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นสวนทางตลาดต่างประเทศที่ติดลบจากความกังวลโควิด-19 โดยได้แรงหนุนสัญญาณเศรษฐกิจไทยเป็นบวกทั้งไตรมาส 3/2563 ที่ดีกว่าคาด ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 982 ล้านบาทโดยยังต้องติดตามการแถลงมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธปท.ด้วย

ขณะที่ ในตลาดตราสารหนี้ มูลค่าการซื้อขายรวม 49,290 ล้านบาท นักลงทุนที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุด 2 อันดับแรก คือ กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซื้อสุทธิ 7,417 ล้านบาท กลุ่มบริษัทประกันภัยซื้อสุทธิ 1,077 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,327 ล้านบาท

บาทอ่อนแตะ30.40

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 30.38-30.43 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 30.32 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงเช้า เป็นผลจากที่ช่วงนี้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า ประกอบกับเป็นผลจากตลาดรับข่าวที่กนง.ระบุล่าสุดถึงความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเร็ว ซึ่งกำลังเตรียมดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลค่าเงินบาท

“ต้องติดตามว่าวันนี้ แบงก์ชาติจะมีการให้ความเห็นเรื่องมาตรการดูแลเงินบาทที่แข็งค่าอย่างไร” นักบริหารเงินระบุ และให้กรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 30.20 - 30.50 บาทต่อดอลลาร์

 

คลังปลื้มเอสแอนด์พีคงอันดับ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่บริษัทเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้ง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยืนยันคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable) เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้หนี้รัฐบาลอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล และสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

กระทรวงการคลังมั่นใจว่า การยืนยันคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย และการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของเอสแอนด์พีครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทยที่กำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อการฟื้นฟูและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไป หลังจากในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจากจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ -6.4% ต่อปี และหากเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 ขยายตัวได้สูงถึง 6.5% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว

พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเพิ่ม

ขณะที่ เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับเข้มแข็งสะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2563 อยู่ที่ 49.4% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ทำให้กระทรวงการคลัง มีความพร้อมในการออกมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

นายอาคม กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะถัดไป กระทรวงการคลังจะมุ่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้รักษาระดับการจ้างงานภายในประเทศ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป