BTS ยืนยันไม่หยุดเดินรถ ลุ้นต่อสัญญาสัมปทานก่อน 16 ธ.ค.

BTS ยืนยันไม่หยุดเดินรถ ลุ้นต่อสัญญาสัมปทานก่อน 16 ธ.ค.

“บีทีเอส” ลุ้นได้ข้อสรุปต่อสัญญาสัมปทานก่อนเปิดส่วนต่อขยายสถานีวัดพระศรีฯ-คูคต ยืนยันเดินรถตามกำหนดวันที่ 16 ธ.ค.นี้ “คีรี” สั่งเดินรถให้ถึงที่สุดแม้ยังไม่ได้ค่าจ้าง หวังไม่ให้กระทบประชาชน

การต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความยืดเยื้อมามากกว่า 1 ปี ทำให้กรุงเทพมหานครไม่ได้ตั้งงบประมาณสำหรับชำระค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย และกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ผูกติดกันหลายปัญหา

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSส เปิดเผยว่า บีทีเอส กำลังติดตามความคืบหน้าการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานครและบีทีเอส หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมตามข้อสังเกตที่มีการหารือใน ครม. 

ทั้งนี้ คาดหวังว่าการต่อสัญญาจะได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ-คูคต มีความพร้อมตามกำหนดในวันที่ 16 ธ.ค.2563 เพื่อให้การดำเนินงานส่วนอื่นเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าโดยสารใหม่ตลอดเส้นทางของสายสีเขียวทั้งหมดที่มีการกำหนดราคาไม่เกิน 65 บาท ตลอดสาย หลังจากที่มีการเปิดให้ใช้บริการฟรีของส่วนต่อขยายช่วงสถานีหมอชิต-สถานีคูคต และช่วงสถานีแบริ่ง-สถานีเคหะสมุทรปราการ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงผู้ถือหุ้นของบีทีเอสเกี่ยวกับความคืบหน้าการต่อสัญญาและความคืบหน้าของการชำระค่าจ้างเดินรถของกรุงเทพมหานคร ซึ่งบีทีเอสได้ทำหนังสือถึงกรุงเทพมหานครถึงการชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย

นอกจากนี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลฯ ยืนยันว่าบีทีเอสไม่เคยประกาศหยุดเดินรถไฟฟ้าสายเขียวและส่วนต่อขายสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้รับเงินค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าจากกรุงเทพมหานครมา 3 ปี เป็นเงินกว่า 8,000 ล้านบาท โดยนายคีรีได้มอบนโยบายให้บีทีเอสเดินรถไฟฟ้าให้ต่อเนื่องมากที่สุดเท่าเพื่อไม่ให้กระทบผู้โดยสาร

ทั้งนี้ ความล่าช้าในการต่อสัญญาสัมปทานจะทำให้จำนวนค่าจ้างเดินรถที่กรุงเทพมหานครจะต้องจ่ายให้บีทีเอสเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยืนยันว่าบีทีเอสจะเดินรถไฟฟ้าให้มีความต่อเนื่องมากที่สุด แต่ถ้ามีความชัดเจนในการต่อสัญญาสัมปทานจะทำให้บีทีเอสสามารถอธิบายต่อผู้ถือหุ้นได้ชัดเจนขึ้น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในด้านเทคนิคถือว่ามีความพร้อมในการเดินรถสมบูรณ์แล้ว รวมถึงความพร้อมด้านจำนวนรถที่บีทีเอสได้จัดซื้อขบวนรถใหม่เมื่อ 3 ปี ที่แล้ว ซึ่งบีทีเอสได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าครบ 46 ขบวน เพื่อทำการวิ่งในเส้นทางส่วนต่อขยายทั้งหมด 

ในขณะที่การซื้อรถไฟฟ้าใหม่จะมีการประเมินอีกระยะ โดยเฉพาะประเด็นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนผู้โดยสารที่จะกลับอยู่ระดับปกติขึ้นกับเงื่อนไขการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงคนไทยที่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ-คูคต มีความพร้อมตามกำหนดในวันที่ 16 ธ.ค.2563 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการเปิดเดินรถ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามความพร้อมการขยายเส้นทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเป็นการให้บริการที่ยกเว้นค่าโดยสารต่อเนื่องจากส่วนต่อขยายสถานีหมอชิต-สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

ส่วนประเด็นที่บีทีเอสทำหนังสือถึงกรุงเทพมหานครเพื่อติดตามค่าเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายยังไม่มีการกำหนดนัดหารือกับบีทีเอส

รายงานข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานครได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ภายหลังรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่เปิดบริการฟรีตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังไม่มีคำตอบมาว่าจะสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้หรือไม่จำนวนเท่าใด จากจำนวนหนี้ที่มี 8,000 ล้านบาท

เผย กทม.ไม่ตั้งงบจ่ายค่าเดินรถ

ทั้งนี้ ปัญหาการค้างชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายดังกล่าวเกิดขึ้นจากการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความล่าช้า โดยกรุงเทพมหานครไม่ได้ตั้งงบประมาณสำหรับจ่ายค่าจ้างเดินรถ เพราะจะนำหนี้ค่าจ้างเดินรถมาหักลบกลบหนี้หลังต่อสัญญาให้บีทีเอส ซึ่งไม่มีใครประเมินมาก่อนว่าการต่อสัญญาจะมีความล่าช้าจนถึงปัจจุบัน

สำหรับกระบวนการต่อสัญญาดังหลังเริ่มต้นจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาการต่อสัญญาระหว่างกรุงเทพมหานครกับบีทีเอสช่วงต้นปี 2562 และมีการเสนอร่างสัญญาต่อสัมปทานให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เห็นชอบเมื่อเดือน พ.ย.2562 รวมทั้งมีการเสนอร่างสัญญาต่อสัมปทานให้ ครม.พิจารณา 3-4 ครั้ง แต่ถูกตีกลับ

 “อนุพงษ์”แจงทุกคำถาม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 กระทรวงมหาดไทยเสนอให้มีการพิจารณาการต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีการตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงใน ครม.ว่าเรื่องนี้ได้หารือฝ่ายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการไปแล้วอย่างน้อย 4-5 ครั้ง

รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยเขาไปทำข้อมูลมาพบว่า การกำหนดราคาค่าโดยสารที่ระดับ 65 บาทนั้นถือว่าครอบคลุมการให้บริการตลอด 66 กิโลเมตร เฉลี่ยค่าโดยสารกิโลเมตรละ 0.97 บาท ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกำหนดค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาท แต่ให้บริการระยะทางทั้งสิ้นแค่ 48 กิโลเมตร เฉลี่ย 0.88 บาท/กิโลเมตร ซึ่งที่เห็นว่าราคาต่างกันนั้น เพราะส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้นรัฐบาลสนับสนุนค่าก่อสร้าง งานโยธา ในขณะที่ที่สายสีเขียวรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนจึงจำเป็นต้องใช้รายได้ของตนเองชำระต้นทุนทั้งหมด

นอกจากนี้สายสีน้ำเงินที่ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่มีการแบ่งรายได้ให้รัฐบาล ในขณะที่สายสีเขียวมีการแบ่งรายได้แก่กรุงเทพมหานครกว่า 2 แสนล้านบาท ดังนั้น หากสายสีเขียวไม่ต้องแบกรับภาระเช่นรถฟ้าสายสีน้ำเงินก็กำหนดค่าโดยสารได้ต่ำกว่าสายสีน้ำเงิน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณารายละเอียดข้อสังเกตมาเพิ่มเติมเพื่อนำเข้ามาพิจารณาในรอบใหม่ โดยให้กระทรวงมหาดไทยชี้แจงตอบทุกคำถาม เพราะเป็นเรื่องที่ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกันทุกคน