อว.เจ้าภาพจัดทำ แผนที่นำทางด้านนวัตกรรมของอาเซียน

อว.เจ้าภาพจัดทำ แผนที่นำทางด้านนวัตกรรมของอาเซียน

อว.เจ้าภาพจัดประชุมระดมสมองระดับอาเซียน หาแนวทางการใช้ประโยชน์จากแผนที่นำทาง ด้านนวัตกรรมของอาเซียน และผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ

 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย  สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) จัดงาน ASEAN Innovation Roadmap & Bioeconomy Forum in Conjunction with GBS2020 ระหว่างวันที่ 16 – 20 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีระดมสมองให้เกิดแนวทางการใช้ประโยชน์จากแผนที่นำทางฯ การผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ โดยเป็นการประชุมหารือแลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างผู้แทนจากหน่วยงานในต่างประเทศภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และการนำเสนอข้อริเริ่มเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดในอาเซียน โดยมีผู้เข้าร่วมได้แก่ ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัด อว. ผู้แทนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา ฝ่ายเลขานุการอาเซียนจากคณะกรรมการสาขาต่างๆ เพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติม และนำเสนอกิจกรรมที่สามารถร่วมมือได้ต่อไปในอนาคต  

160578804362

ประชาคมอาเซียน เป็นกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสูง เนื่องจาก ในปัจจุบันมีการมุ่งเน้นด้านการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งการเป็นประชาคมอาเซียนทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่จับตามองจากกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่มองเห็นผลประโยชน์ในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ นำไปสู่ความร่วมมือหลากหลายสาขาทั้งในระหว่างประเทศสมาชิก และการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมทั้งการสร้างความร่วมมือที่สำคัญ คือ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยประเทศไทยได้เสนอการจัดทำแผนที่นำทางด้านนวัตกรรมของอาเซียน (ASEAN Innovation Roadmap: AIR) ให้เป็นประเด็นผลักดันในโอกาสที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งมีการหารือและระดมสมองจากผู้แทนหลายหน่วยงานในสังกัด อว. ผู้แทนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อจัดทำร่างเอกสาร และได้รับการรับรองจากคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อประกาศใช้ในปี 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

สำหรับ ASEAN Innovation Roadmap ทำหน้าที่เป็นแผนที่นำทางเชิงกลยุทธ์ที่มีความเป็นปัจจุบัน และเป็นสากล ในการดำเนินความร่วมมือ ด้าน วทน. ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมีการผนวกประเด็นเร่งด่วนที่เห็นพ้องกันว่ามีความสำคัญ และประเด็นที่ได้รับการเสนอจากผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบจากการนำความรู้และนโยบายด้าน วทน.  มาบูรณาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม มีการมุ่งเน้นและจัดลำดับความสำคัญ และมีแนวทางการดำเนินกรอบความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งสามารถพิจารณาถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือกับวิทยาการ และนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ก้าวทันโลก เช่น เทคโนโลยี Block chain, AI, 3D Printer, ผนวกกับการเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร Up-skill and Re-skill

160578806130

เพื่อรองรับกับนวัตกรรมใหม่ๆ ภายใต้ระบบนิเวศที่มีนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบซึ่งเอื้อต่อการใช้นวัตกรรมและธุรกิจ Start-ups การพัฒนาความคิดในการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคม นอกจากนี้ การดำเนินความร่วมมือด้าน วทน. ดังกล่าว ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแต่ละเป้าหมาย (Sustainable Development Goals: SDGs) ตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

การประชุมนานาชาติด้านเศรษฐกิจชีวภาพของโลก “Global Bioeconomy Summit: GBS” จัดขึ้นเพื่อผลักดันนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพผ่านความร่วมมือในระดับนานาชาติ เช่น การสร้างกรอบการทำงานร่วมกันทั้งในระดับนโยบาย การวางแผน และการปฏิบัติงานกับทุกภาคส่วน  การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้จากการดำเนินการที่ผ่านมา การสร้างมาตรฐาน แรงจูงใจ และกลยุทธ์ ในการผลักดันให้เกิดตลาดใหม่ของสินค้าและบริการที่มาจากธรรมชาติ การสร้างตัวชี้วัดและระบบการติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงความร่วมมือในการนำผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่การแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่โลกเผชิญอยู่ โดยเน้นการเร่งรัดให้เกิดการดำเนินงานจริงในภาคปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมสู่ประชาคมโลก พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาในมิติต่างๆ ควบคู่ไปกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

160578807552    

       สำหรับการจัดงานในปี 2563 นี้ นับเป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 - 20 พฤศจิกายน 2563 ณ Berlin Conference Center (BCC) กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งในครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในฐานะตัวแทนของภูมิภาคอาเซียน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คณะกรรมการจัดงานจึงมีมติให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน จากการจัดงานในรูปแบบเดิมซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นการจัดงานในรูปแบบของ Virtual Event ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสดการบรรยาย และกิจกรรมต่างๆ จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ควบคู่ไปกับการรับสัญญาณการถ่ายทอดสดจากประเทศเจ้าภาพร่วมไปยังผู้ร่วมงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อลดความหนาแน่นและเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ร่วมงาน