รับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจต้อง ‘ปรับตัวให้ทัน’

รับมือความผันผวนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจต้อง ‘ปรับตัวให้ทัน’

แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีสัญญานเชิงบวก แต่ภาคธุรกิจยังคงเผชิญความเปราะบางและไม่แน่นอนจากพิษโควิด-19 ความคล่องตัวยังมีน้อย วิกฤติครั้งนี้ทำให้ภาคส่วนต่างๆ เริ่มคุ้นชินและปรับตัวไปโดยปริยาย แต่ธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็วจะมีความยืดหยุ่นมากพอให้พุ่งไปข้างหน้า

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มส่งสัญญาณในเชิงบวก แต่จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน-เศรษฐกิจของไทย ยังคงมองว่าแม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า มีความไม่แน่นอน นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% และยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ยังคงมีความเปราะบาง ปัจจัยหลักหนีไม่พ้นจากพิษของวิกฤติโรคระบาด ธุรกิจยังคงมีความคล่องตัวน้อย แรงงานยังมีปัญหา ขณะที่ความไร้เสถียรภาพด้านการเมืองในประเทศ ก็ยังเป็นปัจจัยลบที่พร้อมลดทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลง ทุกอย่างเดินอยู่บนความไม่แน่นอนสูง

ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง จะสะท้อนให้เราเห็นมากขึ้นตั้งแต่นี้ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า เพราะหลายอุตสาหกรรมที่เคยเป็นกำลังหลักของเครื่องจักรเศรษฐกิจไทย เช่น ท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยเฉพาะสายการบินที่แม้จะเริ่มให้บริการในประเทศได้แล้ว แต่การเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยวยังมาได้ไม่เต็มที่ แม้ว่าจะมีมาตรการล่าสุดอย่างการลดวันกักตัวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศไทย ยังคงต้องรอความชัดเจนในมาตรการการควบคุมโรคอย่างรอบคอบเสียก่อน ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อไม่มีการบิน ไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ย่อมไม่มีลูกค้าในโรงแรมต่างๆ

แต่หากมองอีกด้าน วิกฤติโควิดนับว่า เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจที่มีพื้นฐานดี ปรับตัวได้เร็วและมีความยืดหยุ่นมากพอให้พุ่งทะยานไปข้างหน้า ในขณะที่บริษัทที่ไม่สามารถปรับตัวตามได้ทันก็ต้องได้รับผลกระทบด้านลบกันไป การปรับตัว ปรับโครงสร้าง จึงเป็นหนทางหนึ่งในการรับมือกับภาวะวิกฤติ ความผันผวนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร หรือทดลองแผนกลยุทธ์ใหม่ๆ ซึ่งเราเห็นความเคลื่อนไหวของหลายบริษัทที่กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองในช่วงนี้

ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เป็นไปได้ที่วันหนึ่งจะกลายเป็นความคุ้นชิน และทำให้เราปรับตัวเข้าหามันได้ทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว อย่างวันนี้เราเริ่มคุ้นเคยกับโควิด และใช้ชีวิตร่วมกับมันได้แม้จะไม่เต็มใจนัก ความไม่แน่นอนที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นอีกมากนับจากนี้ มองอีกมุมเหมือนบีบให้เราต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อให้อยู่รอด หลายธุรกิจ หลายองค์กรเลือกใช้ช่วงนี้ปรับโครงสร้าง ปรับยุทธศาสตร์องค์กร แต่หนึ่งในทางเลือกแรกที่องค์กรหลายแห่งเลือก คือ ปรับโครงสร้างลดกำลังคน คัดสรรคนที่อยู่ได้ในสถานการณ์เช่นนี้ หากจำเป็นต้องมีคนทำงานเพิ่มต้องคิดให้ได้ว่าจะเป็นการทดแทนใคร เพราะภาวะเช่นนี้การเลือกคนใหม่ย่อมเป็นการมองหาคนที่มีศักยภาพใหม่ๆ ที่คนเก่าไม่มี แม้จะดูเป็นเรื่องยาก แต่การปรับตัวให้ได้ในห้วงเวลานี้ ถือเป็นหนทางทำให้เราก้าวข้ามความไม่แน่นอนแบบนี้ไปได้และเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต