ทำอย่างไร เมื่อ 'เท้า' และ 'ข้อเท้า' ผิดปกติและบาดเจ็บ

ทำอย่างไร เมื่อ 'เท้า' และ 'ข้อเท้า' ผิดปกติและบาดเจ็บ

ข้อเท้าและเท้า นับเป็นอวัยวะสำคัญ เท้าแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน การบาดเจ็บของเท้า การใส่รองเท้า ส่งผลต่อเท้าและข้อเท้าได้ ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์เอ็กซเรย์ และการรักษาเช่น การผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้แม้เป็นปัญหาเรื้อรังก็ยังมีความหวังที่จะรักษาได้

ภาวะที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยปัญหาเท้าและข้อเท้าที่พบบ่อย ได้แก่ 1.) อุบัติเหตุข้อเท้าและเท้าพลิก 2.) ความผิดปกติทางโครงสร้างของกระดูก เส้นเอ็น หรือข้อของเท้าและข้อเท้า โดยการผิดปกติของโครงสร้างเพียงโครงสร้างเดียว สามารถส่งผลต่อโครงสร้างข้างเคียง นำไปสู่ความภาวะผิดปกติทางโครงสร้างอื่นๆ ตามมา นอกจากนี้ยังส่งผลให้ท่าเดิน การลงน้ำหนักเท้าขณะย่างก้าวเปลี่ยนไป ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อข้อที่อยู่สูงขึ้นไป เช่น ข้อเข่าและข้อสะโพก รวมถึงข้อบริเวณหลังด้วย

1605784964100

นพ.อภิสรรค์ จินานุวัฒนา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้า รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในงานแถลงข่าว Reboot Your Step…รักษ์เท้า เพื่อก้าวที่มั่นคง ณ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ว่า ความผิดปกติของเท้าและข้อเท้าพบได้ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็น 1. Forefoot บริเวณปลายนิ้ว 2. Midfoot บริเวณอุ้งเท้า และ 3. Hindfoot บริเวณข้อเท้า โดยภาวะที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเก ภาวะปลายนิ้วเท้าผิดรูปหรือขี่กัน เท้าแบน อุ้งเท้าสูง ข้อเท้าเอียงผิดรูป ซึ่งอาจต่อเนื่องมาจากส่วนอุ้งเท้าหรือเป็นส่วนของข้อเท้าเอง

160578496420

สาเหตุของภาวะเท้าและข้อเท้าผิดรูป อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ , ภาวะเอ็นข้อหลวม หรือ ข้อหย่อน , การใส่รองเท้าที่ผิดสุขลักษณะ , ภาวะผิดรูปหลังจากการบาดเจ็บของกระดูกและเส้นเอ็นข้อเท้าและเท้าที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น จนอาจเกิดปัญหากระดูกไม่ติด กระดูกติดผิดรูป ข้อเอียง ผิวกระดูกข้อสึกหรือมีการกระเทาะบางส่วน เส้นเอ็นเคลื่อนหลุดออกจากร่องเส้นเอ็น เส้นเอ็นข้อเท้าหย่อนเป็นเหตุให้ข้อไม่มั่นคงและส่งผลให้เกิดข้อเสื่อมในที่สุด และ ภาวะข้อผิดรูปจากการทำลายข้อที่มาจากภาวะแทรกซ้อนของระบบปลายประสาท (Charcot arthropathy) ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น

160578496457

“นพ.เอกจิต ศิขรินกุล” ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการบาดเจ็บกระดูกและข้อ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ การบาดเจ็บของบริเวณรอบข้อเท้า เกิดได้จากการบาดเจ็บโดยตรง หรือ การบาดเจ็บโดยอ้อม โดยลักษณะ และความรุนแรงของการแตกหักกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของการบาดเจ็บและความแข็งแรงของกระดูก นอกจากข้อมูลต่างๆ และอาการแสดงแล้ว แพทย์ต้องอาศัยภาพรังสีในการช่วยวินิจฉัย และวางแผนการผ่าตัด ได้แก่ ภาพถ่ายรังสี (plain X-ray) และ Computer Tomography Scan (CT Scan) ในการแตกหักของกระดูกที่ซับซ้อนหรือการแตกร้าวที่สังเกตได้ยาก

160578496499

สำหรับการรักษามีทั้ง การรักษาโดยไม่ผ่าตัด (conservative treatment) ในกรณีที่มีการแตกหักเมื่อติดแล้วไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนขยับ เช่น กระดูกร้าว หรือแตกหักโดยไม่มีการเคลื่อนที่ของผิวข้อ โดยแพทย์สามารถให้การรักษาโดยการใส่เฝือก หรืออุปกรณ์เพื่อพยุง จํากัดการเคลื่อนไหว ใช้ระยะเวลา 6-8 สัปดาห์

และ การให้การรักษาโดยการผ่าตัด (operative treatment) ในกรณีที่มีการแตกหัก และเคลื่อนของผิวข้อ หรือผู้ป่วยไม่สามารถรักษาโดยการใส่เฝือกได้ โดยในส่วนของกระดูกตาตุ่มด้านใน และด้านนอกของข้อเท้าปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูก ใส่สกรู และ/หรือแผ่นโลหะยึดตรึงกระดูก หรือการรัดลวดโลหะ เพื่อให้กระดูกติดในสภาวะและตําแหน่งที่เหมาะสม ร่วมกับการทํากายภายเพื่อให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น การรักษากระดูกหักที่ซับซ้อน

160578496469

ปัจจุบันมี เทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์เอ็กซเรย์แขนกล (Robotic C-arm, Artis Pheno) เพื่อช่วยให้สามารถได้ภาพถ่ายรังสีที่ชัดเจน และการทำภาพสามมิติ ในระหว่างการผ่าตัด สามารถทำให้การผ่าตัดยึดกระดูกมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำ รวมถึงการลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทางรพ. กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลได้ริเริ่มใช้เทคโนโลยีชนิดนี้มาช่วยในการผ่าตัดรักษากระดูกหักในประเทศไทย

ภายใน “ศูนย์กระดูกและข้อ” โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล มีความพร้อมทางด้านการรักษาโรคทางกระดูก โดยเฉพาะการรักษาโรคเท้าและข้อเท้า ทั้งด้านแพทย์ผู้ชำนาญการ บุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ในการผ่าตัดแผลเล็กและ อุปกรณ์ผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งมีขนาดเล็กพิเศษ โดยมีขนาด 1.9 และ 2.7 มม.

นพ.สุทร บวรรัตนเวช” ผู้อำนวยการใหญ่ ศูนย์อุบัติเหตุและออโธปิดิกส์ ในเครือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ และผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การผ่าตัดผ่านกล้องสามารถทำให้แพทย์ได้เห็นพยาธิสภาพของโรคได้อย่างชัดเจน โดยภาพที่ได้จากการผ่าตัดผ่านกล้องจะมีความละเอียดระดับ 4K และภาพจะมีขนาดที่ขยายกว่าที่ เห็นด้วยตาเปล่า 3-10 เท่าตัว ส่งผลให้ได้การรักษาที่แม่นยำ มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก 4-7 มม. และผู้ป่วยมีการฟื้นตัวหลังผ่าตัดที่สั้นลง กลับมาเดินและใช้งานในชีวิตประจำวัน

หรือในกรณีนักกีฬาจะสามารถกลับมาเล่นกีฬาได้เร็วขึ้น รวมถึงมีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดแผลผ่าตัดปกติ ซึ่งเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบันสามารถนำมาปรับใช้ในการรักษาที่หลากหลาย เช่น การตกแต่งกระดูกงอกในข้อเท้าและบริเวณรอบๆ ข้อเท้า ที่ขวางทิศทางการขยับของข้อเท้าซึ่งพบบ่อยในนักกีฬา หรือ ผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บเรื้อรังของข้อเท้า การผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นข้อเท้าในกรณีที่มีการเส้นเอ็นฉีกขาดและมีข้อเท้าหลวม ซึ่งมีความก้าวหน้าทางด้านเทคนิคอย่างมากและสามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้ผลดี การตกแต่งผิวข้อในกรณีข้อเท้าบาดเจ็บที่มีการกระเทาะของกระดูกอ่อนผิวข้อ การผ่าตัดซ่อมเส้นเอ็นร้อยหวายผ่านกล้อง การผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า

160578496465

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ครอบคลุม แพทย์เฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้าจะทำงานร่วมกับทีมแพทย์สหสาขา นักกายอุปกรณ์ นักกายภาพ และแผนกฟื้นฟูสมรรถนะเฉพาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬา ตั้งแต่การออกแบบตัดแผ่นรองเท้า อุปกรณ์ ปรับแต่งรองเท้าและรองเท้าเฉพาะ การฝึกเดิน ฝึกการทรงตัว ฝึกและยืดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน รวมถึงการออกแบบโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถนะของผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีและเหมาะกับผู้ป่วย

“การบาดเจ็บบางครั้งผู้ป่วยอาจละเลย ยิ่งทิ้งจะเป็นปัญหาเรื้อรัง ทำให้คุณภาพชีวิตเสียไป ดังนั้น หากมีปัญหาเกี่ยวกับเท้าหรือข้อเท้า ไม่ควรปล่อยปะละเลย แม้จะเป็นมาแล้ว 5- 10 ปีหรือมีคนบอกว่ารักษาไม่ได้ ขอให้พบแพทย์ เพราะมีหลายรายเป็นเรื้อรัง มาแต่กำเนิด แต่วิวัฒนาการทำให้ชีวิตที่ดีขึ้นดังนั้น อย่าได้หมดหวัง” นพ.สุทร กล่าวทิ้งท้าย