19 พ.ย. 'วันส้วมโลก' ชวนรู้..ใครคิดค้น 'ส้วม' เป็นคนแรก?

19 พ.ย. 'วันส้วมโลก' ชวนรู้..ใครคิดค้น 'ส้วม' เป็นคนแรก?

เปิดที่มาและความสำคัญ "วันส้วมโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 19 พ.ย. ของทุกปี ชวนคนไทยไปย้อนรอยดูวิวัฒนาการ "ส้วม"ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมหาคำตอบว่าใครคือผู้คิดค้น "ส้วมชักโครก" เป็นคนแรก?

เมื่อของใช้ใกล้ตัวในชีวิตประจำวันอย่าง "ส้วม" กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนขาดไม่ได้ และการใช้ "ส้วม" อย่างถูกสุขลักษณะ ยังถือเป็นการแก้ปัญหาด้านสุขาภิบาลในระดับโลก ด้วยเหตุนี้ส้วมจึงถูกยกย่องความสำคัญจนถึงขั้นมีการกำหนด "วันส้วมโลก" ขึ้นมา 

เนื่องใน "วันส้วมโลก" 19 พ.ย. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาทุกคนไปรู้จักส้วมให้ลึกซึ้งกันถึงต้นตอ

  • "วันส้วมโลก" มีมาตั้งแต่ปี 2544

วันส้วมโลก (World Toilet Day) ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสำคัญที่ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของสุขาภิบาล เนื่องจากมีผู้คนทั่วโลกถึง 4.5 พันล้านคนที่มี "ส้วม" ไม่ได้มาตรฐาน วันส้วมโลกได้ถูกตั้งขึ้นโดย "องค์การส้วมโลก" เมื่อปี พ.ศ. 2544

12 ปีต่อมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุ "วันส้วมโลก" อยู่ในวันของสหประชาชาติ โดยมีองค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้ดูแลหลักของวันส้วมโลก อีกทั้งองค์การดังกล่าวก็เป็นผู้จัดทำเว็บไซต์วันส้วมโลก และยังจัดหัวข้อพิเศษในแต่ละปี โดยในปี 2563 มีหัวข้อประจำปีคือ "การสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" 

ในวันส้วมโลกจะมีการให้ความรู้และกิจกรรมในประเด็นต่างๆ และรณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกเข้าส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันโรคภัยใกล้ตัว เช่น อหิวาตกโรค, ท้องร่วง, ไทรฟอร์ย, โรคบิด และโรคพยาธิใบไม้ในเลือด เป็นต้น

160579496954

  • มนุษยชาติมี "ส้วม" ใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

รู้หรือไม่? คนเรารู้จักการใช้ "ส้วม" มาตั้งแต่ประมาณ 5,000 ปีก่อน โดยมีการค้นพบว่าการใช้ส้วม เป็นอารายธรรมโบราณของชาวโรมัน รวมถึงพบในอารยธรรมฮารัปปา (Harappa Culture) และโมเฮนโจ-ดาโร (Mohenjo-Daro Culture) ซึ่งเป็นชื่อเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำสินธุ (อินเดีย) เมื่อประมาณ 3,500 - 1,000 ปีก่อนด้วย

ต่อมาในยุคประวัติศาสตร์พบว่าในช่วงปี ค.ศ. 1596 พบการใช้ "ส้วมแบบถอดล้างได้" ในจักรวรรดิอังกฤษ โดย เซอร์จอห์น แฮริงตัน ข้าราชบริพารชาวอังกฤษและลูกทูนหัวของควีนอลิซาเบธที่ 1 เป็นผู้ริเริ่มให้มีการออกแบบอุปกรณ์ที่ทำหน้าเหมือน "ส้วม" โดยเขานำชามรูปไข่ ลึก 2 ฟุต มาทำให้กันน้ำได้ด้วยพิทช์เรซินและขี้ผึ้ง และใช้ระบบดึงน้ำสำหรับชำระล้างของเสียมาจากถังน้ำชั้นบน โดยหม้อบรรจุน้ำล้างของแฮริงตัน ต้องใช้น้ำ 7.5 แกลลอน 

อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่คล้ายส้วมดังกล่าว ถูกนำมาติดตั้งให้ควีนอลิซาเบธใช้งานที่พระราชวังริชมอนด์ ต่อมาใช้เวลาหลายศตวรรษในการปรับปรุงการผลิต และพัฒนาขั้นตอนการกำจัดของเสีย ซึ่งช่วงนั้นตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมพอดี

160579497017

  • ปี 1775 มี "ส้วมชักโครก" ตัวแรกของโลก 

ต่อมาในปี 1775 อเล็กซานเดอร์ คัมมิ่ง นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษได้รับสิทธิบัตรครั้งแรกสำหรับ "โถส้วมชักโครก" นับเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ส้วม โดยเขาได้ประดิษฐ์ "ท่อรูปตัว S" ด้านล่างโถ เมื่อกดน้ำให้ไหลมาชำระล้างสิ่งปฏิกูล ท่อนี้จะป้องกันไม่ให้ก๊าซของเสียจากท่อระบายไหลย้อนกลับขึ้นมายังโถส้วม 

ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ช่างประปาคนหนึ่งในลอนดอนชื่อ โทมัส แครปเปอร์ ได้ผลิตสุขภัณฑ์แบบชักโครกที่ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง เขาไม่ได้คิดค้นห้องน้ำ แต่เขาได้พัฒนา ballcock ซึ่งเป็นกลไกการเติมน้ำเข้าถังด้านหลังชักโครก ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เราใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

  • คนไทยสมัยสุโขทัยก็มี "ส้วม" ใช้แล้ว

มาถึงเรื่องราวของส้วมในประเทศไทยกันบ้าง มีหลักฐานพบว่าคนไทยในสมัยสุโขทัย เริ่มมีการใช้ "ส้วม" อย่างเป็นกิจจะลักษณะแล้ว พบว่ามีโถส้วมเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าคนสมัยนั้นมีวิธีกำจัดสิ่งปฏิกูลแล้ว เรียกว่า "โถส้วมสุโขทัย" มีลักษณะเป็นหิน มีร่องรับการถ่ายเบา และช่องรับการถ่ายหนักอยู่ตรงกลาง เบา-หนัก จะแยกไปคนละทางไม่ให้ปนกัน เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรง

160579497228

"ส้วม" ของประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับบุคคลชั้นสูง เช่น กษัตริย์ เจ้านาย ที่มีอภิสิทธิ์ในการสร้างที่ขับถ่ายในที่พักอาศัย ราษฎรทั่วไปไม่อาจทำได้ โดยอาจกั้นห้องเป็นสัดส่วน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า "ที่ลงบังคน" หรือ "ห้องบังคน" เพราะเรียกอุจจาระของเจ้านายว่า "บังคน"  เจ้านายจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับ จะมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้นำไปทิ้ง 

ลาลู แบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. 2231 ว่า

"ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า อาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น"

สำหรับพระสงฆ์ ในพระธรรมวินัยกำหนดไว้ว่าจะต้องมีสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะเช่นกัน เรียกว่า เวจ, เวจกุฎี (อ่านว่า เว็ดจะกุดี) หรือ วัจกุฎี (อ่านว่า วัดจะกุดี) โดยมีลักษณะเป็นหลุมถ่ายก่ออิฐหรือหินหรือไม้กรุ มีเขียงแผ่นหินหรือแผ่นไม้รองปิดทับหลุม เจาะรูตรงกลางสำหรับถ่ายอุจจาระ 

  • รู้จัก "ส้วม" ของชาวบ้านในรูปแบบต่างๆ 

สมัยก่อนคนไทยจะเรียกการไปขับถ่ายว่า "ไปทุ่ง" "ไปท่า" และ "ไปป่า" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีสถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่าย แต่จะไปถ่ายตามทุ่งหรือป่าหรือใกล้แหล่งน้ำ เพราะสามารถใช้น้ำชำระล้างได้เลย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 รัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม จึงเริ่มมีการสร้าง "ส้วมหลุม" เป็นส้วมรูปแบบแรกที่คนไทยใช้ โดยขุดดินเป็นหลุมกลมหรือหลุมสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้ อาจใช้ไม้กระดาน 2 แผ่นพาดปากหลุมสำหรับนั่งเหยียบ และเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับถ่ายทุกข์ เมื่อหลุมเต็มก็กลบหลุม ย้ายไปขุดที่ใหม่

160579815878

กระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2460-2471 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจาก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเอกชนของสหรัฐอเมริกา โดยส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่างๆ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทยอย่าง "ส้วมหลุมบุญสะอาด" ซึ่งมีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย และ "ส้วมคอห่าน" ที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม

ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ "ส้วมชักโครก" มากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งต้นพุทธทศวรรษ 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม และมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน

------------------

อ้างอิง :  

history.com

facebook.com/notes/methawaj-teerachalermbong

th.wikipedia.org/wiki