เทรนด์พลังงานโลกเปลี่ยน กดดัน ปตท.ปรับฐานธุรกิจ

เทรนด์พลังงานโลกเปลี่ยน กดดัน ปตท.ปรับฐานธุรกิจ

ปตท.แนะรัฐส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนร่วมตั้งโรงงานประกอบรถอีวี กระตุ้นตลาดในประเทศ เผยสนใจลงทุนศึกษาตลอดแวลูเชน ด้านบอร์ดไฟเขียวซื้อบริษัทย่อย จีพีเอสซี สัดส่วน 50% รุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ พร้อมตั้งบริษัทย่อยลุยผลิต ยาและอุปกรณ์การแพทย์

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงาน หรือ Energy Transition ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ จากอดีตน้ำมันดิบดูไบเคยขึ้นไปแตะระดับกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงมาเหลือระดับ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงก่อนหน้านี้ และเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมดิบในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ยักษ์ด้านพลังงานของไทย คาดการณ์สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยช่วง 5ปี(ปี64-68) อยู่ที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ ไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถือเป็นระดับที่สมดุล และผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ยังคุ้มทุน แต่ระดับราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากกระทบต่อการผลประกอบการของธุรกิจในเครือปตท. โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมาก

เมื่อโลกกำลังจะเปลี่ยนทิศ ปตท.ต้องมองทั้งเรื่องของแนวโน้มพลังงาน (energy trend) และแนวโน้มของโลก(global trend) ที่จะเข้ามากระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ใช้พลังงาน ผ่านการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ และโลกต้องการความสะอาด จึงเห็นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ๆ เช่น แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และธุรกิจใหม่ๆ เช่น ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ปตท. จึงยังเตรียมรุกเข้าสู่การลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) และธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) เพื่อสร้างการเติบทางธุรกิจ

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) จเป็นเรื่องการลงทุนพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น Storage Grid Network ,Smart Energy Platform และ EV Charging Station เป็นต้น อีกทั้งเรื่องของเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ที่มุ่งเรื่องของพลังงานสะอาด เช่น ไฟฟ้า ทำให้ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) น่าสนใจ

โดยเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ปตท.มองว่า ภาครัฐควรสนับสนุนเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจมากพอ นอกเหนือจากการส่งเสริมนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อกระตุ้นการใช้รถEV เพียงอย่างเดียว

“เรื่องของ EV ปตท.ก็สนใจตลอด Value Chain ทั้งการผลิตรถก็สนใจ และตอนนี้ก็เข้าไปเรียนรู้ในทุกด้าน ที่ผ่านมาก็มีความร่วมมือกับจีนเพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆและ GPSC เองก็มีความพร้อมเรื่องของการผลิตแบตเตอรี่ หลังได้เทคโนโลยี 24M ซึ่งโรงงานต้นแบบก็จะแล้วเสร็จปีหน้า แต่ ปตท.จะเข้าไปลงทุนในEV ได้ระดับใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งนโยบายสนับสนุนจากรัฐ และพันธมิตรร่วมลงทุน”

ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ บอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 ได้อนุมัติการซื้อหุ้นบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP (บริษัทย่อยที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือหุ้น 100%) จาก GPSC จำนวนประมาณ 4.655 ล้านหุ้น คิดเป็น 50% ของทุนจดทะเบียน โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยของ ปตท. คือ บริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ PTTGM มูลค่ารายการรวมทั้งสิ้นประมาณ 693 ล้านบาท

ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้ กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เป็น 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากปัจจุบัน ที่มีอยู่กว่า 500 เมกะวัตต์ และเป็นการรวบรวมบุคลากรที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน จากทั้ง ปตท. และ GPSC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปสู่การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนรองรับโอกาสขยายการลงทุนโครงการใหม่ๆในระดับสากล และส่งผลให้ GPSC สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเงินทุนเพื่อใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตามเป้าหมายการเติบโตของบริษัท ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหลัก และพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ โดย GPSC ยังคงเป็นแกนนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืนของของกลุ่ม ปตท. โดย

สำหรับ GRP ลงทุนในธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และดำเนินธุรกิจบริหารและการบำรุงโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) จำนวน 9 โครงการ ตั้งอยู่ในพื้นที่ จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร และ ขอนแก่น มีกำลังการผลิต 39.5 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า(PPA) เป็นระยะเวลา 25 ปี แบ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ Adder ในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย (สำหรับช่วง 10 ปีแรกของสัญญา) ในสัดส่วน 3.6 เมกะวัตต์ และ สัญญาในรูปแบบ Feed-in Tariff หรือ FiT อัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย ในสัดส่วน 35.9 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้งหมดมีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 – 2558

อย่างไรก็ตาม GPSC แจ้งว่า ภายใต้ข้อกำหนดในสัญญาซื้อขายหุ้น การซื้อขายหุ้น GRP จะเสร็จสิ้นได้จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการ เช่น การที่หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันการรับแจ้งเพื่อทราบ เป็นต้น โดยคาดว่าเงื่อนไขบังคับก่อนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมจำหน่ายหุ้นเสร็จสิ้น GRP จะไม่ได้มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ

ทั้งนี้ การที่ ปตท. เข้าร่วมลงทุนใน GRP จะช่วยสนับสนุนความสามารถของบริษัทฯ ในการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ในฐานะแกนนำในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคของกลุ่ม ปตท. (PTT Group’s Power Flagship) ในการพัฒนาลงทุนและดำเนินการด้านธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ การประชุมบอร์ด ปตท.เมื่อวันที่ 18พ.ย. 2563 ยังมีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด โดยบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด (PTTGM) ที่เป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรกไม่เกิน 300 ล้านบาท และอนุมัติเพิ่มทุนเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อรองรับการลงทุนของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจใหม่ตามกลยุทธ์ New S-Curve : Life Science อาทิ ธุรกิจยา ธุรกิจ Nutrition ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น

รวมถึง ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพความสามารถของ ปตท.ในด้าน Life Science (วิทยาศาสตร์ชีวภาพ) และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ทั้งนี้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ถือเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.

ก่อนหน้านี้ ปตท.เปิดเผยข้อมูลว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ(M&A) โรงงานผลิตยาในต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มโซนเอเชียก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 64 หลังจากที่ในประเทศ ปตท.ได้มีความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) จัดตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรงมะเร็ง