‘วันส้วมโลก‘ ชวนคุยเรื่อง ‘โถส้วม’ ศิลปะสมัยใหม่ และการยั่วล้อสังคม

‘วันส้วมโลก‘ ชวนคุยเรื่อง ‘โถส้วม’ ศิลปะสมัยใหม่ และการยั่วล้อสังคม

"วันส้วมโลก" ทำให้เรานึกถึง "โถส้วม" ที่น่าจะดังที่สุดในแวดวงศิลปะ "The Fountain" โถส้วมกลับหัวของมาร์เซล ดูฌองป์ (Marcel Duchamp) แต่ไม่ใช่แค่ดูฌองป์เท่านั้น ยังมีงานศิลปะที่สร้างจากโถส้วมมาตั้งคำถามกับสังคมอีก

วันส้วมโลกทำให้เรานึกถึง โถส้วมที่น่าจะดังที่สุดในแวดวงศิลปะ ‘The Fountain’ โถส้วมกลับหัวของมาร์เซล ดูฌองป์ (Marcel Duchamp) ที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และพลิกนิยามคำว่า ศิลปะต่อคนในแวดวงเอง และต่อสังคมด้วย ว่าอะไรคือศิลปะ หากไม่ได้สร้างขึ้นใหม่ แต่หยิบเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันมาแปะป้าย ให้ความหมายใหม่ กระบวนการ เลือกที่จะใช้ของศิลปิน เลือกจะให้นิยามนั้นก็คือกระบวนการศิลปะเช่นกันหรือไม่?

ช่วงต้นศักราช 1900s เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สั่นสะเทือนโลก ในวงการศิลปะก็มีความเคลื่อนไหว เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตั้งคำถามต่อขนบประเพณีปฏิบัติต่อศิลปะแนวเดิม เกิดสมาคมศิลปินอิสระที่ไม่ขึ้นกับสำนักศิลปะคลาสสิกขึ้นมา ก็แล้วศิลปินอิสระนั้น มีความคิดที่เป็นอิสระต่อกรอบศิลปะแนวเดิมแค่ไหน เรื่องของ ‘The Fountain’ โดย R. Mutt ที่ มาร์เซล ดูฌองป์ ปิดบังชื่อตัวเอง ส่งเข้าประกวด ตอบได้ดี เพราะแม้แต่ สมาคมศิลปินอิสระก็ยังปฏิเสธที่จะแสดงงานชิ้นนี้ ด้วยไม่อาจยอมรับ หรือทำความเข้าใจต่อวิธีการนำเสนอศิลปะที่แหวกประเพณีได้

160576410816

‘The Fountain’ โดย Marcel Duchamp เครดิตภาพ: ภาพโดย Alfred Stieglitz (1917) / researchgate.net

ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร โถส้วมของดูฌองป์ก็มีอิทธิพลต่อความคิด และทำให้เกิดปรากฏการณ์ตอบรับกับงานศิลปะชิ้นนี้มาต่อเนื่องยาวนาน ไม่เพียงได้แรงบันดาลใจในการต่อยอด ทำซ้ำ ยังมีการสร้างงานแบบมีส่วนร่วมด้วยการฉี่ใส่โถหลายต่อหลายครั้ง หรือการทุบทำลาย โดยศิลปินประเภท Performance Art หลายครั้ง ด้วยเจตนา “สร้างสรรค์ต่อยอด” จากงานของดูฌองป์

ความหมายยั่วล้อต่อสังคมของ ‘โถส้วม’

ของสำเร็จรูปในชีวิตประจำวันมีอยู่มากมาย แต่ทำไมศิลปินถึงเลือกใช้ ‘โถส้วมมาทำงานศิลปะ

ก็อย่างที่รู้กันดี โถส้วมคือของรองรับสิ่งปฏิกูล และกิจกรรมส่วนบุคคลภายในห้องน้ำนั้น ก็เหมือนเป็นสิ่งต้องห้ามที่ไม่ควรพูดถึงพอๆ กับเซ็กส์ การขับถ่ายปฏิกูลหาที่ทางเหมาะสมที่จะพูดถึงมันได้ยาก นอกจากในบริบทด้านสุขภาพ

เมื่อ ‘ส้วม’ ‘โถส้วม’ ‘ชักโครก ถูกหยิบมาขึ้นหิ้งมอบความหมายใหม่ทางศิลปะ มันจึงเกิดคุณค่าชวนฉงนและเรียกแขกให้มาตีความกัน

อย่างที่ดูฌองป์จับโถปัสสาวะมาหงายขึ้นอีกทาง น้ำที่ต้องไหลลงชำระล้างของเสีย ก็กลับกลายเป็นน้ำพุที่สร้างความสบายตาสบายใจแทน การตั้งชื่อและเปลี่ยนความหมายใหม่ให้กับโถส้วมสำเร็จรูปเป็นงานของศิลปิน แต่ปฏิกิริยาของผู้ชมนั่นแหละที่ทำให้งานศิลปะนั้นสมบูรณ์

The Fountain มีนักวิจารณ์ศิลปะไทยเขียนถึงไว้มากมายแล้ว เพราะพอพูดถึงโถส้วมกับงานศิลปะ ก็ไม่มีทางที่จะหนีพ้นงานชิ้นนี้ไปได้ เราเลยอยากจะพูดถึง โถส้วมในฐานะงานศิลปะร่วมสมัยชิ้นอื่นๆ โดยศิลปินคนอื่นๆ กันบ้าง

เสียดสีถึงรูปธรรมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เชอร์รี เลวีน (Sherrie Levine) เป็นอีกคนหนึ่งที่สร้างงานโถส้วมขึ้นมาในชื่อ Fountain (After Marcel Duchamp) ในปี 1991 แน่นอน เธอตามรอยดูฌองป์ เลวีนเป็นศิลปินที่ชอบทำงานเสียดสี งานชิ้นนี้แสดงในนิทรรศการชื่อ Mayhem ที่ Whitney Museum of American Art

160576401737

Fountain (After Marcel Duchamp) โดย Sherrie Levine เครดิตภาพ: peterandjoan blogs

เลวีนผลิตงานด้วยการขึ้นรูปโถส้วมด้วยบรอนซ์ แล้วก็ตั้งชื่อใหม่ว่า “Fountain (Buddha)” และ “Fountain (Madonna)” โดยบังเอิญ (หรือด้วยมุมมองของเลวีน) รูปร่างของโถปัสสาวะแบบที่ดูฌองป์นำมาแสดง และเลวีนจำลองขึ้นมาใหม่ มีช่วงบนคล้ายกับศีรษะ และเหมือนคนอยู่ในท่านั่ง เธอตั้งชื่อใหม่ และมอบความหมายแสนศักดิ์สิทธิ์ให้กับโถส้วม พระพุทธเจ้า และพระแม่มารีอา เหมือนเป็นการตั้งคำถามแรงๆ ต่อความคารวะที่มีต่อศิลปะและศาสนา หากวัตถุถูกมองเป็นรูปแทนของศาสดา (สำหรับคนจำนวนหนึ่งศิลปะก็เหมือนเป็นศาสนา) แล้วโถส้วมสำเร็จรูปล่ะ? ถ้าครั้งหนึ่ง ดูฌองป์เคยสร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการศิลปะ ที่ยังคงมีคนพูดถึงอยู่ทุกวันนี้ การเอาของต่ำมาแทนที่รูปเคารพ ผู้ศรัทธาจะรู้สึกอย่างไร?

America โถส้วมทองคำ ความเรืองรองและเสรีของอเมริกา

เมาริซิโอ แคตเตลัน (Maurizio Cattelan) ศิลปินรุ่นเดอะ ที่ว่าจะเกษียณ แต่ก็ไม่ กลับมาทำงานอีกครั้งด้วยผลงานชื่อ America (2016) เขาได้เปลี่ยนโถส้วมในห้องน้ำห้องหนึ่งของกุกเกนไฮม์ มิวเซียม (Guggenheim Museum) ในนิวยอร์ค ให้เป็นโถส้วมทองคำ 18 กะรัตที่ใช้งานได้จริง งานนี้เปิดแสดง (และให้ใช้งาน) ปลายเดือนกันยายน 2016 ซึ่งติดตั้งยาวๆ อยู่ระยะเวลาหนึ่ง

ภัณฑารักษ์ของทางกุกเกนไฮม์ บรรยายถึงงานชิ้นนี้ว่า

เป็นการหลิ่วตาให้กับการตลาดศิลปะที่มีความเป็นธุรกิจมากเกินไป เหมือนหยอกแรงๆ และยังปลุกความฝันอเมริกันดรีม ซึ่งพูดถึงโอกาส และเสรีที่เปิดกว้างต่อคนทั้งมวล การใช้งานได้จริงของโถส้วมนี้ยังเตือนให้เรานึกถึงความจริงของร่างกายที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจหนีพ้น

นั่นคือ ใครๆ ใดๆ ในโลกก็ต้องล้วนขับถ่าย เราเท่ากันก็ตรงนี้ และผู้ชมทุกชนชั้นยังสามารถเข้าถึงอภิสิทธิ์ของการไปขับถ่ายบนโถส้วมทองคำได้อย่างถ้วนหน้า ถ้ารอต่อแถวไหว

แค่ตั้งชื่อว่า America บนโถส้วมที่ใช้ได้จริง ก็ส่อสำเนียงยั่วล้อออกมาอย่างแรง โถส้วมที่ขับถ่ายของเสีย แต่เปล่งประกายเรืองรองด้วยทองคำ ชวนให้นึกถึงความยิ่งใหญ่ของอเมริกา ซึ่งในอีกด้านก็เต็มไปด้วยปัญหาด้านลบ งานนี้เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2016 ซึ่งอเมริกาก็จะได้โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี กับนโยบาย Make America Great Again ผ่านไป 4 ปี ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับอเมริกา ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศพากันกดชักโครกเริ่มต้นใหม่สักที

160576406119

America (2016) โดย Maurizio Cattelan เครดิตภาพ: https://www.rivistastudio.com/gabinetto-oro-cattelan/

งานศิลปะชิ้นนี้จัดว่าเป็นงานศิลปะแบบ “มีส่วนร่วม” เพราะสามารถสัมผัสแตะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับงานได้อย่างใกล้ชิดและเป็นส่วนตัว เพราะอนุญาตให้เข้าได้ทีละคน โดยมีรปภ.และพนักงานทำความสะอาดคอยคอยดูแลอยู่ หลังจากที่มีคนเข้าแล้ว ก็จะมีการตรวจเช็คว่าคนก่อนหน้าได้กดน้ำขจัดของเสียของตัวเองอย่างหมดจดหรือไม่ แล้วจะมีคนทำความสะอาดตามเข้าไปดูแลทำความสะอาดอีกที เพื่อสุขอนามัย และถนอมงานศิลปะชิ้นนี้ต่อไป

ผ่านมาร้อยปี ถึงตอนนี้คงไม่มีใครตั้งคำถามกับการหยิบอะไรๆ มาเป็นศิลปะอีกแล้ว อะไรก็เป็นศิลปะได้ ไม่จำกัดกระบวนการ

ศิลปะไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่เฉพาะ ต่อให้ศิลปินเลือกสื่อสารสิ่งที่เป็นปัจเจก หรือเพื่อสังคม มันก็ได้ตอบโจทย์ทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน เพราะความเป็นปัจเจกก็อาจเป็นประสบการณ์ร่วมของคนหมู่มากได้

การที่ศิลปินคนหนึ่งเลือกที่จะทำงานเสียดสี ก็เพราะมันสำคัญในการที่เราจะตั้งคำถามต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อทุกสิ่งอย่าง การที่ศิลปะทำให้คนสงสัย ก็เท่ากับว่าทำให้คนฉุกคิดและหาคำตอบด้วยตัวเอง

ถ้าศิลปินเลือกสร้างความหมายใหม่ให้กับของสำเร็จรูป ก็ขึ้นอยู่กับว่าศิลปินเลือกสรรวัตถุดิบได้เฉียบพอที่จะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อผู้ชม สร้างการวิพากษ์วิจารณ์ และแรงกระเพื่อมต่อสังคมแค่ไหน งานชิ้นนั้นก็เป็นที่ยอมรับได้ ทั้งในแง่ ‘ชอบและ ชัง

โถส้วมก็เช่นกัน

- - - -

อ้างอิง

1

2