‘บลูบิค’ แนะเปิดโอกาสธุรกิจ ขับเคลื่อนองค์กรด้วย ‘ข้อมูล’

‘บลูบิค’ แนะเปิดโอกาสธุรกิจ ขับเคลื่อนองค์กรด้วย ‘ข้อมูล’

การผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอยู่ที่การบริหารจัดการข้อมูลที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร เพราะการตัดสินใจต่างๆ ตั้งแต่ การประชาสัมพันธ์ วางแผนจ้างงาน ไปจนถึงวางกลยุทธ์ ล้วนต้องนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจแทบทั้งนั้น แต่การมีข้อมูลในมือเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เนื่องจากกุญแจสู่การผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอยู่ที่การบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงประเด็นนี้ ยกตัวอย่างความสำเร็จองค์กรในลักษณะข้างต้น เห็นได้จาก 5 อันดับบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล หรือ Data-Driven Organization ไปแล้วถึง 4 อันดับ ได้แก่ แอ๊ปเปิ้ล (อันดับ 1 มูลค่า 9.61 แสนล้านดอลลาร์) ไมโครซอฟท์ (อันดับ 2 มูลค่า 9.46 แสนล้านดอลลาร์) อเมซอน (อันดับ 3 มูลค่า 9.16 แสนล้านดอลลาร์) อัลฟาเบท (อันดับ 4 มูลค่า 8.63 แสนล้านดอลลาร์)

3 ขั้นตอนบริหารจัดการข้อมูล

ส่วนการจัดเก็บและบริหารข้อมูล เป็นหนึ่งตัวแปรที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากชุดข้อมูลต่างๆ สะท้อนความต้องการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ราคา ความสนใจ ที่อยู่ อายุ โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาต่อยอด ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงความต้องการสูงสุดของลูกค้าได้ วิธีการซึ่งนำมาซึ่งข้อมูลนั้นมีหลากหลาย เช่น การสร้างเว็บไซต์ โปรแกรม หรือแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูล โดยการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นไปอย่างเป็นระบบและง่ายต่อการนำมาวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

พชร กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องคำนึงถึงการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทำกำไรแก่องค์กรได้ยั่งยืน แนวทางปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ Data-Driven Organization แบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน คือ 1.เริ่มต้นแบบ Kick Start ควรเริ่มจากโครงการที่มีขนาดเล็ก เริ่มดำเนินการได้เร็ว คล่องตัวสูง ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า และสร้างรายได้ภายในระยะสั้น เป็นโครงการนำร่องเพื่อกำหนดแนวทางและช่วยสร้างฐานข้อมูลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงถัดไป

เขายกตัวอย่าง โรบินฮู้ด (Robinhood) แอพบริการจัดส่งอาหาร ดำเนินการภายใต้ เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด เครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) เป็นโครงการ Kick Start เพื่อหวังปฏิรูปธุรกิจธนาคารแบบเดิม ต่อยอดโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ได้แรงบันดาลใจจาก Pain-point ของแอพส่งอาหารที่เก็บค่า Gross Profit หรือ GP ส่งผลให้ร้านค้ารายย่อยเสียประโยชน์ และต้องขึ้นราคาสินค้า บริการ สร้างผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการ ผู้บริโภค

โรบินฮู้ด จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของ SCB 10X ที่นำข้อมูลลูกค้ามาใช้ประโยชน์ให้ธุรกิจแม่ แม้เป็นแพลตฟอร์ม บริการส่งอาหารซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคาร แต่ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า สะท้อนความต้องการผู้บริโภคและนำไปต่อยอดได้มากมาย

2.ขยายสู่การวางกลยุทธ์ระดับองค์กร เพื่อวางรากฐานการนำข้อมูลที่ได้มาไปวิเคราะห์ต่อยอดสร้างโอกาสธุรกิจ แผนกลยุทธ์องค์กรอาจเริ่มจากกำหนดวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายที่คาดหวังร่วมกัน แล้ววางระบบดำเนินงาน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับจัดเก็บข้อมูล และแผนดูแลจัดการข้อมูล

ลอรีอัล-สตาร์บัคส์ กรณีศึกษาสำคัญ

องค์กรที่ประสบความสำเร็จเรื่องนี้ พชร ยกตัวอย่าง ลอรีอัล ผู้นำธุรกิจความสวยความงามและเวชสําอางระดับโลก โดย ลอรีอัล เริ่มจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในปี 2559 โดยสร้างรายได้กว่า 1,700 ล้านยูโร (คิดเป็น 6.5% ของรายได้ในปีดังกล่าว) และโตเกือบถึง 3,000 ล้านยูโรในปี 2561 (คิดเป็น 11% ของรายได้ในปีนั้น)

ลอรีอัล วางแผนกลยุทธ์ระดับองค์กรในการสร้างระบบนิเวศ เพื่อจัดการข้อมูลและนำมาใช้ประกอบการพัฒนากลยุทธ์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปรับผังองค์กรและสายการผลิต ให้คล่องตัว นำเทคโนโลยีมาเพื่อยกระดับวิธีการผลิตให้ตอบสนองความต้องการในตลาดได้รวดเร็ว พร้อมนำข้อมูลไปใช้ทำการตลาด โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลผ่านเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Artificial Intelligence (AI) จาก ModiFace บริษัทลูกของลอรีอัล สำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น 

3.สร้างนโยบายบริหารจัดการข้อมูลยั่งยืน เน้นทำงานแบบ Agile สร้างองค์ความรู้แบบ End-to-End ให้องค์กรมีเสถียรภาพใช้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจได้รวดเร็ว ยกตัวอย่าง “สตาร์บัคส์” ที่มีการเก็บและจัดการข้อมูลแบบยั่งยืน ผ่านระบบซีอาร์เอ็ม (CRM) ในชื่อ “Starbuck Rewards” มีสมาชิกทั่วโลกรวมกว่า 13 ล้านราย Data-Driven Organization เกิดขึ้นหลัง เควิน จอห์นสัน รับตำแหน่งซีอีโอ พัฒนาระบบให้เอื้อต่อการนำข้อมูลไปใช้หลายรูปแบบ เช่น การสรรหาทำเลสำหรับการเปิดสาขาใหม่ ที่ใช้ข้อมูลตัดสินใจขยายสาขา ปรับเมนูให้ตรงความต้องการลูกค้า สร้างสินค้าใหม่อิงพฤติกรรมลูกค้า เป็นต้น