'แก๊สน้ำตา' อุปกรณ์ 'สลายการชุมนุม' อาณุภาพร้ายแรงกว่าที่คิด!

'แก๊สน้ำตา' อุปกรณ์ 'สลายการชุมนุม' อาณุภาพร้ายแรงกว่าที่คิด!

หนึ่งในอุปกรณ์ที่นิยมใช้ในการควบคุมฝูงชน และ/หรือ ใช้ "สลายการชุมนุม" ในประเทศไทย มักจะใช้ "แก๊สน้ำตา" แม้จะถูกจัดเป็นอุปกรณ์ที่มีโอกาสทำให้เสียชีวิตต่ำ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีอันตราย

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหน หากมีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีคำว่า "สลายการชุมนุม" และการบาดเจ็บหรือล้มตายของคนไทยด้วยกัน ตามมาเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลมาจากการอนุมัติให้ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนมาใช้สลายการชุมนุม ซึ่งมีอันตรายต่อบุคคลโดยตรง หนึ่งในนั้นคือ "แก๊สน้ำตา" 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปรู้จักที่มาของ "แก๊สน้ำตา" ว่าถูกนำมาใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่ รวมถึงอันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสแก๊สน้ำตา และวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

160569989737

  • แก๊สน้ำตา (tear gas) คืออะไร

แก๊สน้ำตา คือ อุปกรณ์สารเคมีที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนหรือจราจล หากสัมผัสโดนแก๊สนี้จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและแก้วตาดำ ทำให้เจ็บตา หายใจลำบาก ผิวหนังระคายเคือง อีกทั้งแก๊สจะกระตุ้นประสาทของต่อมน้ำตาทำให้น้ำตาไหล การใช้งานมีทั้งการยิงจากเครื่องยิงแก๊สน้ำตา และใช้แบบระเบิดขว้าง ในแก๊สน้ำตามีสารเคมีเป็นส่วนประกอบมากกว่า 12 ชนิด แต่ที่หลักๆ อยู่ 3 ชนิดได้แก่

1. Chloroacetophenone หรือ CN gas (เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530)

ถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แต่นำมาใช้ในช่วงสงครามเวียดนามโดยกองทัพสหรัฐอเมริกา ในช่วง ค.ศ. 1960-1979 มีการนำมาใช้ในการปราบจราจล และในกิจการของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านความมั่นคงและความปลอดภัย โดยการใช้งานจะอยู่ในรูปละอองลอยที่บรรจุในภาชนะอัดความดัน ต่อมานำมาใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัว แต่ก็ยกเลิกไปแล้วในปัจจุบัน

2. Chlorobenzylidenemalonitrile หรือ CS gas (เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530)

เป็นผงผลึกสีขาว เมื่อไหม้ไฟจะเกิดก๊าซไม่มีสี ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1928 แต่ยังไม่มีการใช้งาน จนกระทั่งสงครามเวียดนามจึงมีการนำมาใช้เป็นอาวุธสงครามอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

3. Dibenzoxazepine หรือ CR gas (เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530)

กระทรวงกลาโหมของอังกฤษพัฒนาขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลืองซีด มีกลิ่นคล้ายพริกไทย ในสหรัฐอเมริกาไม่ใช้สารตัวนี้เป็นสารควบคุมจราจล เนื่องจากมีสมบัติก่อมะเร็ง สารนี้อาจอยู่ในรูปผงหรือของเหลวก็ได้

160569989715

ในประเทศไทย แก๊สน้ำตา ถูกนำเข้ามาใช้ครั้งแรกในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิ.ย. 2475) ไม่นาน โดยกระทรวงมหาดไทย มีการแถลงข่าวสาธิตการใช้ที่สนามเป้าและสามเสน

  • อันตรายจาก "แก๊สน้ำตา"

หากร่างกายคนเราสัมผัสกับ "แก๊สน้ำตา" จะมีผลให้เกิดการไหม้และระคายเคืองทันทีตามบริเวณที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตา อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสแก๊สน้ำตา ได้แก่

- น้ำตาไหล มองเห็นไม่ชัด ตาแดง
- น้ำมูกไหล จมูกบวมแดง
- ปากไหม้และระคายเคือง กลืนลำบาก น้ำลายไหลย้อย
- แน่นหน้าอก ไอ รู้สึกอึดอัด หายใจมีเสียงดัง หายใจถี่
- ผิวหนังไหม้ เป็นผื่น
- คลื่นไส้ อาเจียน

โดยปกติแล้ว หลังโดนแก๊สน้ำตาแล้วรีบออกมาทำความสะอาดร่างกายทันที อาการที่เกิดขึ้นจะคงอยู่ประมาณ 30-60 นาทีเท่านั้น แต่ถ้าสัมผัสแก๊สน้ำตาเป็นเวลานานๆ มากกว่า 1 ชั่วโมง หรือได้รับสัมผัสปริมาณมากๆ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้ เช่น ตาบอด ต้อหิน ระบบหายใจล้มเหลว เสียชีวิตเนื่องจากสารเคมีไหม้ลำคอและปอด (*หมายเหตุ: ปริมาณที่ทำให้เสียชีวิตได้ จะมากกว่าปริมาณที่ใช้ในการสลายการชุมนุมหลายร้อยเท่า)

160569989778

แม้ได้ชื่อว่าเป็นอาวุธที่ไม่รุนแรงถึงตาย (non-lethal) หรือมีโอกาสทำให้เสียชีวิตต่ำ (less-lethal) แต่มีความเสี่ยงทำให้บาดเจ็บถาวรหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน เช่น หากถูกกระแทกจากปลอกแก๊สน้ำตา ก็อาจทำให้เกิดแผลฟกช้ำรุนแรง ตาบอด หรือกะโหลกศีรษะร้าว จนทำให้เสียชีวิตทันทีได้เหมือนกัน

มีรายงานการบาดเจ็บของหลอดเลือดอย่างรุนแรงจากปลอกแก๊สน้ำตาจากประเทศอิหร่าน โดยมีอัตราการบาดเจ็บของประสาทร่วมด้วย (44%) และมีการบาดเจ็บจนต้องตัดแขนหรือขา (17%) เช่นเดียวกับมีการบาดเจ็บของศีรษะ

  • วิธีปฐมพยาบาลเบื้อต้นเมื่อโดน "แก๊สน้ำตา"

หากอยู่ในวิถีของแก๊สน้ำตาที่ยิงมา ให้วิ่งไปทิศตรงกันข้ามกับทิศที่ยิงแก๊สน้ำตาจนพ้นระยะกลุ่มแก๊ส ไม่ควรวิ่งไปด้านข้างเพราะมีโอกาสสัมผัสแก๊สน้ำตาได้อยู่ การมองเห็นอาจพร่ามัวได้ง่าย ดังนั้นให้มีสติแล้วมองดูรอบๆ ตัว แล้วค่อยเคลื่อนไปยังที่ที่ปลอดภัย ถ้าเป็นไปได้ให้ไปอยู่เหนือลม และปล่อยให้ลมพัดผ่านร่างกายที่โดนแก๊ส จะช่วยให้แก๊สน้ำตาหลุดไปได้เร็วขึ้น ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่

160568836745

1. หากแสบตาให้ล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือมากๆ อย่าเอามือไปโดนหรือขยี้ตา เพราะจะทำให้แก๊สน้ำตาขยายวงและซึมเข้าผิวหนังได้

2. หากโดนผิวหนังให้ล้างตัวด้วยน้ำเย็น อย่าใช้น้ำร้อน เพราะน้ำร้อนทำให้รูขุมขนเปิดกว้างขึ้นทำให้แก็สน้ำตาซึมเข้าไปได้ง่ายขึ้น

3. เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบถอดเสื้อผ้าทันที แล้วอาบน้ำฟอกสบู่มากๆ และล้างออกด้วยน้ำสะอาดให้นานหน่อย

4. ส่วนเสื้อผ้า รองเท้า ที่โดนแก๊สน้ำตา ให้นำไปผึ่งในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรือถ้าจะให้ชัวร์ก็นำไปซัก 2 ครั้งด้วยน้ำเย็นและซักอีกครั้งด้วยน้ำร้อน

-------------------

อ้างอิง :

www.chemtrack.org

th.wikipedia.org/wiki

สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ