อยู่บ้านเป็นเหตุ : 'โควิด-19' ทำ 'พนันออนไลน์' เกลื่อนเมือง

อยู่บ้านเป็นเหตุ : 'โควิด-19' ทำ 'พนันออนไลน์' เกลื่อนเมือง

558 เว็บไซต์ "พนันออนไลน์" ผุดเพิ่มขึ้นหลายแห่งท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด "โควิด-19" ชวนรู้สักนิดว่าการพนันรูปแบบนี้มีความรุนแรงแค่ไหน และวิธีรับมือกับเยาวชนที่ "เสพติดพนันออนไลน์" ควรทำอย่างไร

ยิ่งโลกไร้พรมแดนมากเท่าไหร่ ช่องทางการสื่อสารและการบริการต่างๆ ก็ถูกพัฒนาให้สะดวกมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่แค่ในมุมดีๆ แต่ในด้านมืดมันก็พัฒนาพุ่งไปไกลไม่ต่างกัน โดยเฉพาะ "โซเชียลมีเดีย" ที่วันนี้กลายเป็นช่องโหว่ให้ ‘อบายมุข’ เข้าใกล้ตัวเรามากขึ้น นำไปสู่ปัญหาสังคมอย่าง “พนันออนไลน์” ที่ทุกคนควรให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าปัญหาเรื่องอื่นๆ

160568817186

  • "พนันออนไลน์" ภัยร้ายใกล้ตัว

มีข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การลดผลกระทบของพนันออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนไทย" ปี 2562 ระบุว่าการพนันในเด็กและเยาวชน ส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย และผลกระทบต่อสมอง โดยพบว่าการพนันมีส่วนเปลี่ยนแปลงสมองได้เช่นเดียวกับยาเสพติด และขัดขวางการพัฒนาสมองและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างถาวร โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่มีความรุนแรงกว่าพนันชนิดอื่นถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในทางพฤติกรรมด้วย เพราะการพนันเป็นต้นตอที่ทำให้เยาวชนมีโอกาสเข้าสู่อบายมุขอื่น รวมถึงการก้าวสู่เส้นทางอาชญากรรมได้

อีกทั้งยังมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พบว่ารายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจ "พนันออนไลน์" เติบโตในลักษณะก้าวกระโดด จากปี ค.ศ.1997 มีรายได้ที่ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มาเป็น 528,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี ค.ศ.2015 ส่วนประเทศไทยเองในปี 2551 ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่า ในช่วงฟุตบอลยูโร มีเด็กและเยาวชน อายุ 12-24 ปีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กว่า 370,000 คนเข้าสู่วงการ "พนันบอล" โดยมีเงินสะพัดถึง 924 ล้านบาท

ที่น่าห่วงคือในจำนวนกว่าร้อยละ 83.8 มองว่าการเล่นทายพนันบอลเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย

  • โควิดทำ "พนันออนไลน์" เกลื่อน

สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยและเครือข่าย ได้มีการสำรวจจำนวนเว็บไซต์ พนันออนไลน์ พบว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบ เว็บไซต์พนันออนไลน์ 240 เว็บไซต์ ช่วงระยะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส มีเว็บไซต์พนันออนไลน์เพิ่มเป็น 440 เว็บไซต์ และช่วงคลายมาตรการเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563 มีเว็บไซต์การพนันเพิ่มขึ้นเป็น 558 เว็บไซต์

160568803959

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนเข้าถึงการพนันได้มากขึ้นกว่าในปีที่แล้ว และคนมีความต้องการจะเล่นพนันสูงขึ้น โดยมองว่าเล่นพนันเสี่ยงโชคจะช่วยเพิ่มรายได้ ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่เข้าสู่วงจรการพนันสูงที่สุดจากการพบเห็นโฆษณาที่มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เชิญชวน

ซึ่งช่วงอายุที่พบเห็นโฆษณามากที่สุดคือ 15-19 ปี และพบเห็นช่องทางโฆษณาจาก 

Facebook ร้อยละ 76.5

Website ร้อยละ 70.6

Line ร้อยละ 32.5

Instagram ร้อยละ 25.6

Twitter ร้อยละ 15.3

E-mail ร้อยละ 7.9

โดย 5 อันดับประเภทการพนันที่ เด็กและเยาวชนเล่นมากที่สุด ได้แก่

ยิงปลาร้อยละ 31.7

แทงหวยร้อยละ 19.8

เกมสล็อตร้อยละ 17.8

บาคาร่าร้อยละ 15.8

ทายผลกีฬาร้อยละ 14.8

  • เปิดวิธีรับมือนัก "พนันออนไลน์" วัยเยาว์

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้ทำงานวิจัย เรื่อง “การลดผลกระทบของพนันออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนไทย" ให้ข้อเสนอแนะว่า การป้องกันทางนโยบายสาธารณะ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะต้น ต้องสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันต้องเพิ่ม "พื้นที่สีขาว" ให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมที่ห่างไกลจากการพนันด้วย

160568818098

ต่อมาในระยะกลาง รัฐควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนถึงความสำคัญของปัญหาพนันในเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังก่อน โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พัฒนาแผนระดับชาติในการแก้ปัญหาการพนัน

ขณะที่ในระยะยาวประเทศไทยควรจัดตั้งกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการมาใช้ในการณรงค์สร้างการตระหนัก การเยียวยารักษา รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือ จัดการเรียนการสอนให้ความรู้ความเข้าใจ ปัญหาของการพนันให้เป็นหลักสูตรในโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย

นอกจากนี้ยังต้องมีความเข้มงวด โดยการกำหนดเป็นกฎหมายในการกำหนดอายุขั้นต่ำ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเล่นพนัน รวมถึงการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการพนันหลายรูปแบบควบคู่ไปด้วยกัน