เมื่อลูกหนี้กลายเป็นโจทก์ และกรณีข้อกำหนด 'ประธานศาลฎีกา'

เมื่อลูกหนี้กลายเป็นโจทก์ และกรณีข้อกำหนด 'ประธานศาลฎีกา'

รู้แล้วบอกต่อ! เมื่อลูกหนี้กลายเป็นโจทก์ และกรณีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา

เพจเฟซบุ๊ค "สื่อศาล" เพจที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารของศาลยุติธรรมไปยังบุคลากรภายในองค์กรและสังคม ได้เผยแพร่บทความล่าสุด (18 พ.ย.) ระบุว่า เมื่อลูกหนี้กลายเป็นโจทก์

เป็นไปได้หรือที่ลูกหนี้จะเป็นโจทก์ ในโลกของความเป็นจริงมีแต่ลูกหนี้ที่ใจคอไม่ดีเวลารับหมายจากศาลตอนถูกเจ้าหนี้ฟ้อง ต้องเสียเวลาค่าใช้จ่ายเดินทางไปสู้คดีและไม่รู้ว่าผลลัพธ์ของคดีจะเป็นอย่างไร

วันนี้ ลูกหนี้มีสิทธิเป็นโจทก์ได้กับเขาได้เหมือนกัน หลังจากกฎหมายใหม่เรื่องไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องของศาลยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐ ตรี ใช้บังคับในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ และมีการออกข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องว่า ถ้าไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องแล้วตกลงกันได้ คู่สัญญาอาจขอให้ศาลพิพากษาตามข้อตกลงได้โดยไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล โดยให้เรียกผู้ที่ยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยว่าโจทก์ และเรียกคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งที่ศาลเรียกมาไกล่เกลี่ยว่าจำเลย ถ้าลูกหนี้เป็นฝ่ายขอไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้แล้วตกลงกันได้ ลูกหนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นโจทก์ทันที

ส่วนเจ้าหนี้ถึงคราวต้องเป็นจำเลยบ้างแล้ว ถ้าคิดว่าเป็นลูกหนี้จะไปขอไกล่เกลี่ยกับเขาทำไม รอเจ้าหนี้ฟ้อง รอรับหมายไปขึ้นศาลแล้วค่อยไปคุยกับเจ้าหนี้ที่หน้าบัลลังก์ศาลหลังถูกฟ้องนั้น ถ้าเป็นหนี้เงินที่มีดอกเบี้ย ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นตามเวลาที่ผ่าน ไม่ได้หยุดรอให้ตัดสินใจ การคุยกันก่อนฟ้อง จึงไม่เหมือนกับคุยกันหลังฟ้อง โดยเงื่อนไขการชำระหนี้อาจดีกว่าที่จะได้หลังถูกฟ้องด้วยซ้ำ ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเหมือนไปช้อปปิ้ง ไม่ถูกใจข้อเสนอก็ไม่ต้องซื้อ ไม่มีอะไรเสียหายจากการพูดคุย มีผู้ประนีประนอมที่มีประสบการณ์สูงและเจ้าหน้าที่ศาลดูแลอย่างใกล้ชิดให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรมทุกขั้นตอน ท้ายที่สุดถึงแม้ตกลงกันได้แล้วศาลก็จะตรวจข้อตกลงให้อีกครั้งว่าเป็นธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่ก่อนจะให้ลงชื่อทำข้อตกลง การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) สำหรับทุกฝ่าย และสามารถไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ศาล สะดวก ประหยัด ทันสมัย

เวลาได้รับหนังสือทวงหนี้จากเจ้าหนี้ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ ให้ไปติดต่อขอข้อมูลจากศาลยุติธรรมใกล้บ้านได้ทุกวันไม่มีวันหยุด จะโทรศัพท์ไปสอบถามหรือเข้าเว็บไซด์ศาลยุติธรรมก็ได้ ลองไปหาข้อเสนอดีๆ จากการไกล่เกลี่ย คุยกันแล้วตกลงกันไม่ได้ก็ไม่มีอะไรผูกมัด ไม่เสียเวลา ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่เสียโอกาสสู้คดีเพราะไม่สามารถนำข้อมูลในการเจรจาไปใช้เป็นหลักฐานในศาลภายหลัง และมีเจ้าหน้าที่ศาลช่วยเหลือดูแลตลอดกระบวนการไม่ให้มีการเอาเปรียบ ที่สำคัญลูกหนี้จะได้เป็นโจทก์กับเขาเสียที

โดยสำนักส่งเสริมงานตุลาการ