สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น ดันยอดขายรถในประเทศโต

สัญญาณเศรษฐกิจฟื้น  ดันยอดขายรถในประเทศโต

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั่วโลกยังรุนแรง แต่การที่ประเทศไทยรับมือโควิด-19 ได้ดี ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มได้ผล ในขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศกลับมาอยู่ในแดนบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั่วโลกยังรุนแรง แต่การที่ประเทศไทยรับมือโควิด-19 ได้ดี ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มได้ผล ในขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเดินหน้าต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศกลับมาอยู่ในแดนบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นับตั้งแต่เดือนก.ย. ที่ผ่านมาช่วยบรรเทาผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงจากการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง โดยคาดว่าในปี 2563 ยอดผลิตรถยนต์ของไทยจะอยู่ที่ 1.42 ล้านคัน สูงกว่าเป้าที่วางไว้ประมาณ 2 หมื่นคัน

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการประเมินยอดผลิตรถยนต์ภายในประเทศได้ปรับตัวดีขึ้น โดยเมื่อวิกฤติโควิด-19 ส.อ.ท. ได้ปรับลดเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้เหลือ 1.4 ล้านคัน ลดลงจากปี2562 ที่มีจำนวนประมาณ 2 ล้านคัน หรือลดลง 30% โดยยอดการผลิต 1.4 ล้านคันนี้ จะแบ่งเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศ 7 แสนคัน และการผลิตเพื่อส่งออก 7 แสนคัน

อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้รับมือกับโควิด-19 ได้ดี จนทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มั่นใจว่ายอดการผลิตเพิ่อขายภายในประเทศจะถึงเป้าหมาย 7 แสนคันอย่างแน่นอน และอาจจะไปถึง 7.2 แสนคัน เนื่องจากยอดขายรถกระบะได้เพิ่มขึ้นมาก จากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการประกันราคาพืชผลเกษตรของรัฐบาล รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรโดยรวมก็เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ในงานมหกรรมรถยนต์ MOTOR EXPO 2020 ที่จะจัดขึ้นภายในปีนี้ คาดว่าจะทำให้มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคันจากภาวะปกติ

ส่วนยอดส่งออกรถยนต์ คาดว่าน่าจะถึงเป้าหมาย 7 แสนคัน อย่างไรก็ตามยังมีความเป็นห่วงในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในยุโรป และยังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศ ซึ่งหากมีการล็อกดาวน์อีก ก็จะกระทบต่อการส่งออกสูง ซึ่งหากมีการระบาดระลอก 2 จนถึงขั้นล็กอาวน์ ก็อาจทำให้ไม่ถึงเป้าหมาย 7 แสนคัน แต่หากสถานการณ์ไม่รุนแรงก็ไม่น่าจะกระทบมากกว่านี้ โดยประเทศที่มียอดส่งออกลดลงมาก ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย , ภูมิภาคตะวันออกกลาง , อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ก็มีบางประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ได้ดี ก็ทำให้ยอดส่งออกไปประเทศเหล่านี้เริ่มดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชีย

“จากการที่รัฐบาลแก้ไขปัญหาโควิด-19 ได้ดี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วจนทำให้ยอดขายภายในประเทศเพิ่มขึ้น จนทำให้เป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่วางไว้ที่ 1.4 ล้าน จะสูงกว่าเป้าหมายไปอยู่ที่ประมาณ 7.2 แสนคัน”

ส่วนยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนต.ค. 2563 มีทั้งสิ้น 149,360 คัน ลดลงจากเดือนต.ค. 2562 แค่ 2.24% เนื่องจากผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศซึ่งปีนี้มีสัดส่วน 55.01% ของยอดผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. 2562 ในสัดส่วน 18.81% เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองติดต่อกันหลังจากมีการล็อกดาวน์ในเดือนเม.ย. โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการผลิตรถกระบะเพื่อขายในประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ของรัฐบาล แต่ผลิตเพื่อส่งออกยังคงลดลงถึง 19.65% ส่วนจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค. – ต.ค. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,112,426 คัน ลดลงจากช่วงเดี่ยวกันของปีก่อน 35.53%

ในจำนวนยอดการผลิตที่กล่าวในขั้นต้นนี้ จะแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือนต.ค. 2563 ผลิตได้ 82,157 คัน เท่ากับ 55.01% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.81% และเดือนม.ค. – ต.ค. 2562 ผลิตได้ 535,800 คัน เท่ากับ 48.17% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.20%

160561792679

“ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อขายภายในประเทศเพิ่มขึ้นติดต่อกันแล้ว 2 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2563 และคาดว่าในเดือนต่อ ๆ ไปจนถึงสิ้นปีนี้ยอดผลิตเพื่อขายภายในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากช่วงล็อกดาวน์ไม่สามารถขายรถยนต์ได้เลย และตอนนี้ภาวะเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ”

ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออก ในเดือนต.ค. 2563 ผลิตได้ 67,203 คัน เท่ากับ 44.99% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.65% ส่วนยอดรวมตั้งแต่เดือนม.ค. – ต.ค. 2563 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 576,626 คัน เท่ากับ 51.83% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2562 ระยะเวลาเดียวกันที่มีสัดส่วน 35.83%

เมื่อรวมยอดตั้งแต่เดือนม.ค. – ต.ค. 2563 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 520,555.06 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.87%

ผลพวงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น จากความสามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ กำลังสะท้อนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งไทยในฐานะแหล่งผลิตสำคัญของโลก