ยื่นตีความมติ 'ศาลปกครองสูงสุด' ปม 'โฮปเวลล์' ขัด 'รัฐธรรมนูญ' หรือไม่

ยื่นตีความมติ 'ศาลปกครองสูงสุด' ปม 'โฮปเวลล์' ขัด 'รัฐธรรมนูญ' หรือไม่

'ผู้ตรวจการแผ่นดิน' ยื่นคำร้องต่อ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' วินิจฉัยมติ ศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อ 27 พ.ย.45 ขัดแย้ง รัฐธรรมนูญหรือไม่

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียน กรณีกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐในสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 เกี่ยวกับมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 25 วรรคสาม มาตรา 188 และมาตรา 197 หรือไม่            
     

พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้นับอายุความตามมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอ้างว่ามติดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มติดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้
          

ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า กรณีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มตินั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และ มาตรา 44 นอกจากนี้ มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งผิดไปจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ดังนั้น จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าวสามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม 
       

ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561