ก.แรงงาน ลุยชลบุรี พัฒนาคนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

ก.แรงงาน ลุยชลบุรี พัฒนาคนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

ก.แรงงาน ลุย จ.ชลบุรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) แสวงหาความร่วมมือพัฒนาคนด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และคณะ จับมือบริษัท ซิโนเปค อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม เซอร์วิส คอร์ปอเรชั่น และบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรีตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี และสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) แสวงหาความร่วมมือพัฒนายกระดับฝีมือแรงงาน 4.0 รับเทคโนโลยีชั้นสูง


ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้มีเป้าหมายต้องการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการพัฒนาทักษะแรงงานรองรับเทคโนโลยีชั้นสูง โดยได้เชิญผู้บริหารภาคเอกชนและผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกพร. ที่มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ มุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

"สถาบัน MARA จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต และเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่มีความต้องการแรงงานฝีมือทั้งในระดับวิศวกรและช่างปฏิบัติการจำนวนมาก สถาบัน MARA จะเน้นฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เพิ่มปริมาณการผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพ ลดการสูญเสีย ลดระยะเวลาในการผลิต ซึ่งการตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ยังมีโอกาสได้รับชมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเชื่อม การฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาการขับรถ Forklift อีกด้วย"



นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า สำหรับบริษัท ซิโนเปค อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม เซอร์วิส คอร์ปอเรชั่น และบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ มีความต้องการแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้ร่วมมือกับกพร. ในการพัฒนากำลังแรงงานในสาขาที่บริษัท มีความเชี่ยวชาญ เช่น ร่วมกับ บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จัดฝึกอบรมหลักสูตร การติดตั้งระบบส่งสัญญาณโทรคมนาคมในระบบ 4G และ 5G ให้แก่บุคลากรฝึกของ กพร. เป้าหมาย 120 คน

เพื่อนำไปขยายผลฝึกอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปอีก 300 คน และวางแผนร่วมกับบริษัท ซิโนเปค อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม เซอร์วิส คอร์ปอเรชั่น ยกระดับทักษะให้แก่แรงงานไทย เตรียมป้อนเข้าสู่ระบบการจ้างงานด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียม โดยการนำเทคโนโลยีการเชื่อมอัตโนมัติ และอุปกรณ์การฝึกอบรมของบริษัทมาถ่ายทอดความรู้ ให้แก่ครูฝึกของ กพร. เพื่อนำไปขยายผลการฝึกให้แก่นักศึกษา ผู้ว่างงาน และแรงงานทั่วไปที่มีความรู้พื้นฐานด้านงานเชื่อม มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 300 คน เป็นต้น ซึ่งการหารือในครั้งนี้จะส่งผลให้ความร่วมมือ มีความคืบหน้ามากขึ้น ส่งผลดีต่การพัฒนาแรงงานต่อไป