คลังผนึกธปท.สกัดเก็ง'บาท'ครึ่งเดือนต่างชาติซื้อหุ้น-บอนด์7.2หมื่นล้าน

คลังผนึกธปท.สกัดเก็ง'บาท'ครึ่งเดือนต่างชาติซื้อหุ้น-บอนด์7.2หมื่นล้าน

“อาคม”ชี้ต่างชาติเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยดันเงินบาทแข็งค่า ถกแบงก์ชาติออกมาตรการดูแลสกัดเก็งกำไร เผยครึ่งเดือนเงินทุนไหลเข้าทะลัก“หุ้น-บอนด์” 7.2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะตราสารหนี้อายุต่ำกว่า 1 ปียอดพุ่ง 4.6 หมื่นล้านบาท

ค่าเงินบาทปิดตลาดวานนี้(16พ.ย.) ที่ 30.22 บาทต่อดอลลาร์ แม้จะอ่อนค่าจากเปิดตลาดในช่วงเช้าที่่ระดับ 30.16 บาทต่อดอลาร์ แต่นักค้าเงินระบุว่า ค่าเงินบาทในช่วงนี้แข็งค่าขึ้นมาเร็ว ทำให้มีแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมา โดยเงินบาทวานนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 30.14-30.23 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า แรงขายทำกำไรในค่าเงินบาทส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาแสดงความเห็นว่าจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มาช่วยดูแลค่าเงินบาทด้วย

ด้านนายอาคม แสดงความเป็นห่วงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว ล่าสุดวานนี้ให้สัมภาษณ์ย้ำอีกครั้งว่า “ได้หารือกับธปท.แล้ว ซึ่งคงมีหลายๆมาตรการมาดูแล” 

นายอาคม กล่าวว่า สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่านั้น เป็นเพราะช่วงนี้ตลาดหุ้นของไทยดี ส่วนหนึ่งเพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ผ่านไปด้วยดี และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นเรื่องของเศรษฐกิจของไทยทำให้ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทย

อย่างไรก็ตามการดูแลค่าเงินบาทนโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องทำงานประสานกัน โดยในส่วนของนโยบายการคลังนั้น นอกจากจะมีเรื่องของการนำเข้าสินค้าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าแล้ว ยังมีเรื่องของการชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อจ่ายเงินดอลลาร์ออกไป และการเบิกเงินกู้ต่างประเทศที่จะต้องทยอยเบิก ซึ่งตรงนี้อาจจะช่วยผ่อนคลายได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังในเรื่องของเงินทุนที่ไหลเข้ามาในช่วงที่ตลาดดี คือ เรื่องของการเก็งกำไร ฉะนั้นจะต้องบริหารหลายด้าน

“แม้เราจะมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ถึงเวลาเรื่องการนำสินค้าเข้า โดยเฉพาะเรื่องของโครงการรถไฟต่างๆ เรื่องขบวนรถไฟความเร็วสูงก็ยังใช้เวลาอีกหลายปี แต่ที่ผ่านมาก็มีเพียงรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีเหลือง ที่ตัวรถนำเข้ามา ก็จ่ายเงินดอลลาร์ออกไป เราคงต้องดูเงินกู้ครบเวลาชำระหรือไม่ ก็อาจจะช่วยผ่อนคลายได้บ้าง แต่การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศไม่ได้เบิกจ่ายทีเดียวทั้งก้อน เราต้องดูคงช่วยกันทั้งมาตรการเงินแบงก์ชาติและมาตรการทางการคลังของเราด้วย”

“บาทแข็ง”โอกาสเอกชนลงทุน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นเรื่องปกติ เพราะมีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศ โดยเมื่อไทยส่งออกได้มากขึ้น แต่มีการนำเข้าสินค้าทุนน้อยก็มีส่วนที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้เงินบาทแข็งแต่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมา

ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสของภาคเอกชนที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อปรับโครงสร้างและประสิทธิภาพการผลิตโดยนำเอาเครื่องจักรเครื่องมือที่สามารถลดต้นทุนการผลิตเข้ามาช่วยส่งเสริมศักยภาพการผลิตให้แข่งขันได้ โดยเฉพาะบางสินค้าที่มีการผลิตคล้ายกับไทยแต่เขาได้ประโยชน์จากค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย

สำหรับอัตราการนำเข้าสินค้าในไตรมาส 2 ปีนี้ ลดลง 23.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้าในไตรมาส 3 มีมูลค่า 45,294 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 17.8% สอดคล้องกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน แต่ถือว่ามีการนำเข้าดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปีนี้

ทั้งนี้การลดลงในทุกหมวดสินค้าทั้งหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน โดยเฉพาะสินค้าทุนลดลงมากที่สุด 17.6%

เงินร้อนทะลักหุ้น-บอนด์

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า หากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในช่วง 16 วัน ของเดือนพ.ย. 2563 พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง โดยล่าสุดแข็งค่าขึ้น 3.24% หากเทียบกับปลายเดือนต.ค. และแข็งค่าขึ้นเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค โดยแข็งค่าอันดับหนึ่งคือ รูเปียห์ อินโดนีเซีย แข็งค่าขึ้น 3.65%

นายนริศ กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว ในช่วงระยะเวลาอันสั้น ส่วนหนึ่งจากเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ ที่พบว่า ในรอบ 16 วันที่ผ่านมา (1-16พ.ย.) ไหลเข้าถึง 72,334 ล้านบาท เป็นเงินทุนไหลเข้าที่สูงที่สุดของปี หลังก่อนหน้าเงินทุนต่างชาติไหลออกแรง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เงินต่างชาติไหลออกถึง 1.7 แสนล้านบาท

หากพิจารณาเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติ พบว่าแบ่งเป็นเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้(บอนด์)ระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบอนด์ระยะสั้นของธปท. ขณะที่ไหลเข้าตลาดหุ้น ถึงวันที่ 13 พ.ย.ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเงินร้อนที่ไหลเข้าสะท้อนมุมมองบวกของต่างชาติ เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น หลังมีการปรับจีดีพีเพิ่มขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้น หลังการเลือกตั้งสหรัฐมีความชัดเจน

“เงินทุนที่ไหลเข้าเดือนนี้ ถือว่าเป็นเงินร้อนจริงๆที่เข้ามา เพราะส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาลงทุนระยะสั้นๆ โดยเฉพาะบอนด์ ที่ไม่เกิน 1 ปี ทำให้ค่าเงินบาทเราแข็งค่าเกือบอันดับหนึ่งของภูมิภาค และแข็งค่ากว่าเงินหยวนที่เราค้าขายด้วยมาก ซึ่งที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าแบงก์ชาติมีการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทอยู่แล้ว แต่หากแข็งค่าขึ้นอีกก็คงเห็นการดูแลมากขึ้นอีก”

หนุนออกมาตรการดูแล

อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นๆ เพื่อลดการแข็งค่าของค่าเงินบาท เชื่อว่าสามารถทำได้ตั้งแต่มาตรการระดับเบาไปหนัก โดยมาตรตการระยะสั้น เช่น การลดการออกบอนด์ธปท. เพื่อลดการเข้ามาเก็งกำไรบอนด์ธปท. และมาตรการหนัก คือบังค้บให้ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุน ต้องซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน เหล่านี้จะลดความผันผวนค่าเงินบาทได้ ซึ่งจะคุมเงินร้อนได้ทันที แต่มาตรการนี้ต้องระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบต่อตลาดค่อนข้างมาก

เชื่อกนง.ให้ความสำคัญ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการประชุมรอบนี้ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 

ทั้งนี้สัญญาณจากงานประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุด เมื่อ 14 ตุลาคม 2563 สะท้อนว่า ธปท. ตระหนักถึงแรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยากจะหลีกเลี่ยงและอยู่ระหว่างเตรียมหลายมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดบัญชีที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้คงจะดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวน และศึกษาความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป

ขายหุ้น-บอนด์ทำกำไร

การอ่อนค่าเล็กน้อยของเงินบาทในช่วงปิดตลาดวานนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงขายทำกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยในตลาดตราสารหนี้ มีมูลค่าการซื้อขายเบาบางเพียง 36,958 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ 87 ล้านบาท 

นอจากนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยวานนี้จำนวน 1,225 ล้านบาท ถือว่าเป็นการขายครั้งแรกหลังจากที่ซื้อติดต่อมา 3 วันในสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยยอดรวมซื้อสุทธิเกือบ 3 หมื่นล้านบาท โดยหุ้นไทยปิดตลาดวานนี้ที่ 1,351.06 จุด เพิ่มขึ้น 4.59 จุด มูลค่าการซื้อขาย 78,504 ล้านบาท มีแรงขายออกมาในท้ายตลาด กังวลม็อบจะไปปิดล้อมสภาฯวันนี้(17พ.ย.)

ต่างชาติโหมลงทุนบอนด์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า จากกระแสการเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จากที่เน้นแต่หุ้นเติบโตมาตลอดปีไปเป็นหุ้นพื้นฐานและวัฏจักร เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทยในปี 2564 ราว 1-2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 3-6 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ตลาดตราสารหนี้ไทย ยังสามารถกดดันให้เงินบาทแข็งค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นกระแสเงินทุนที่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ โดยในช่วง 10ปีที่ผ่านมา เดือนที่มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดบอนด์เกิน 2 พันล้านดอลลาร์ เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น 1.0% เช่นกัน

“ถ้านักลงทุนซื้อตราสารหนี้ระยะยาวของไทยแล้วแปลงกลับไปเป็นดอลลาร์ จะมียีลด์ที่สูงกว่าบอนด์สหรัฐที่ระดับอายุเท่ากันราว 50bps จึงมองว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อบอนด์ไทยในปี 2564 ที่ระดับ 1-2 หมื่นล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2559-2562”

ปีหน้าค่าเงินแข็งทะลุ 29 บาท

ส่วนหุ้นไทย นายจิติพล คาดว่า จะยังมีแรงขายปรับสัดส่วนการลงทุนใน Emerging Markets เป็นปัจจัยกดดัน จึงอาจเห็นเงินทุนไหลออกเล็กน้อย โดยปัจจุบันเริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติลดลง อาจจะเป็นแค่ช่วงนี้เท่านั้นและยังมีโอกาสกลับมาอีก จุดที่สำคัญคือสถานการณ์โควิดและยาต้านไวรัส ถ้าดีขึ้นหรือมาพร้อมกัน มีโอกาสเงินไหลเข้าอีกรอบ  

ดังนั้นแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2564 คาดว่า เงินบาทจะแข็งค่าสู่ระดับ 29.70 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบสิ้นปีนี้ที่ระดับ 30.80 บาทต่อดอลลาร์ 

สำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนไทย แนะนำว่า ควรจับตากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและทิศทางของค่าเงินทั่วโลกให้ดี เนื่องจากเป็นแนวโน้มหลักของโลกที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ เชื่อว่าเงินบาทที่แข็งจะเป็นประโยชน์กับผู้นำเข้า และประชาชนทั่วไป ทำให้สามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้ถูกลง และมีกำลังลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น ส่วนผู้ส่งออกควรใช้จังหวะเงินบาทแข็งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือเลือกใช้สกุลเงินท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าเพื่อลดความเสี่ยง โดยอาจทำประกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ด้วย