ทางสามแพร่ง ‘วุฒิสภา’ โหวตร่างรธน.เอาตัวรอด

ทางสามแพร่ง ‘วุฒิสภา’ โหวตร่างรธน.เอาตัวรอด

ไม่ว่าผลของการประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พ.ย.จะออกมาอย่างไร ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเมือง แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความขัดแย้งบทใหม่

สถานการณ์ทางการเมือง เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในวันที่ 17-18พ.ย. ซึ่งเป็นวันที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ ซึ่งรวมไปถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยกลุ่มภาคประชาชนนามว่า ‘ไอลอว์
ตามขั้นตอน ก่อนจะมีการลงมติว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จะเริ่มพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการก่อน (ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล เป็นประธาน)

การพิจารณารายงานฉบับนี้เอง เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะเป็นการชี้ขาดว่า ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 คนจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งภาพรวมของรายงานฉบับนี้ไม่ได้ฟันธงลงไปชัดเจนว่า ที่ประชุมรัฐสภาควรรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับของวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และไอลอว์ ซึ่งได้เสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

แต่ถ้าอ่านลงไปถึงไส้ในรายงานฉบับนี้แล้วจะพบว่า ส.ว.ที่เป็นกรรมาธิการส่วนใหญ่ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า ส.ว.ไม่ควรรับหลักการร่าง เพราะมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะเป็นเพียงการเสนอแก้รายมาตราเฉพาะ มาตรา 256 แต่การแก้ไขดังกล่าวเป็นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงสมควรที่จะต้องทำประชามติก่อนให้รัฐสภารับหลักการ โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต

ด้วยเหตุผลตรงนี้ทำให้ ส.ว.จำนวนไม่น้อย ที่เริ่มจะมีความคิดว่า ควรรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อน เพราะมองว่าถึงอย่างไรเสียก็ต้องมีการทำประชามติอยู่แล้ว เริ่มเกิดความลังเลและไม่แน่ใจ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่มี ส.ว.บางกลุ่ม พยายามหว่านล้อมให้เห็นว่า หาก ส.ว.ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ อาจนำมาซึ่งการฟ้องร้องคดีเป็นจำนวนมากจากกลุ่มมวลชนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม

ดังนั้น สถานการณ์ของ ส.ว.ต่อการลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีด้วยกัน 3 ทิศทาง ดังนี้

1.รับหลักการเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นท่าทีที่สอดรับกับทั้งส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว.ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่าไม่มีเหตุผลที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ปิดสวิตซ์ ส.ว.และยกเลิกการปฏิรูปประเทศ รวมไปถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ 

โดยมองว่าในเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างสนับสนุนให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แล้วก็ควรให้ส.ส.ร.เข้ามาทำรื้อโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดไปในคราวเดียว

ขณะที่ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ที่ไม่สมควรรับหลักการนั้น เป็นเพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่มีแนวโน้มคล้อยตามกับท่าทีของ ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ ส.ว.ที่ชี้นำให้เห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์จะเป็นการทำให้การปราบปรามการทุจริตเปิดสูญญากาศ เพราะมีการเสนอยุติการบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปราบทุจริตชั่วคราว

2.รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และไอลอว์ ทั้งนี้ มี ส.ว.อีกจำนวนหนึ่งมองไปยังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ว่า แม้จะมีบางประเด็นที่ละเอียดอย่างเรื่องการปราบปรามการทุจริตที่อาจชะงักลง 
แต่ในทางปฏิบัติของรัฐสภาแล้ว หากรัฐสภาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการรัฐสภาจะต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลมาพิจารณาเป็นหลักอยู่แล้ว จึงเท่ากับทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์แทบไม่ได้รับการพิจารณาอยู่แล้ว 

ในทางกลับกัน หากรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชน อาจยิ่งเป็นการซ้ำเติมความขัดแย้งทางการเมืองเข้าไปอีก

3.เสนอให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกฉบับออกไปก่อน โดยอ้างว่าควรเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาก่อน ซึ่งแนวทางนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะ ส.ว.ที่ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยตรง อีกทั้งยังไม่ได้ขึ้นชื่อว่าคว่ำกฎหมายของประชาชน

ทั้งนี้ไม่ว่าผลของการประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พ.ย.จะออกมาอย่างไร จะไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเมือง แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งบทใหม่