ประชาธิปไตยทาง ‘เศรษฐกิจ-สังคม’

ประชาธิปไตยทาง ‘เศรษฐกิจ-สังคม’

ระบอบประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ขึ้น หากประชาชนเรียกร้องต่อสู้จนได้รับสิทธิ-โอกาสในสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ เช่น ที่ทำกิน การใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชน การรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค นอกเหนือจากแค่มีสิทธิเลือกผู้แทน

ระบอบประชาธิปไตยมีความหมายกว้างกว่าแค่มีสิทธิเลือกผู้แทน คือ ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจ และสิทธิเสรีภาพทางสังคมด้วย แต่การที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน ได้รับการศึกษาและข่าวสารคุณภาพต่ำ มีฐานะทางสังคมต่ำ จึงยังขาดสิทธิเสรีภาพหรือขาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่มาก 

สภาพเช่นนี้เป็นช่องทางให้นักการเมืองของชนชั้นนำ ใช้เงินทอง อำนาจ การโฆษณาชวนเชื่อ ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ เอาชนะการเลือกตั้งได้ผู้แทนเข้ามาเป็นรัฐบาล และใช้ระบบเสียงข้างมาก (แค่ 50% บวก) เป็นใหญ่เพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวกได้ จึงเป็นระบบลัทธิเสียงข้างมากเป็นใหญ่ (Majoritism) ที่พอพวกนักการเมืองโกงมาก ก็ถูกนายทหารทำรัฐประหาร กลายเป็นรัฐบาลพันธุ์ผสมระหว่างทหารกับนักการเมือง

ดังนั้น ถึงจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย วางรูปแบบ (กำหนดโรดแมพ) การเมือง การเลือกตั้งแบบใหม่กี่ครั้ง ถ้ายังไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนตัวระบบโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองสังคมไทยที่มีการผูกขาดอำนาจ ความมั่งคั่ง ความรู้โดยชนชั้นนำส่วนน้อย ถึงจะมีเลือกตั้งใหม่ก็จะเอื้อประโยชน์เฉพาะชนชั้นนำที่แม้จะมี 2-3 กลุ่ม แต่มีผลประโยชน์และแนวคิดจารีตนิยมคล้ายกันขึ้นมาเป็นรัฐบาล หาช่องโหว่ของกติกา เงื่อนไขต่างๆ ทำให้พวกตนได้เปรียบได้ต่อไป

ประชาชนควรศึกษาปัญหาความด้อยพัฒนาของการเมืองไทยในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ว่าตัวปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องกลุ่มหรือตัวบุคคลจากชนชั้นนำว่ากลุ่มไหนจะดีกว่ากลุ่มไหน แต่ตัวปัญหาคือ 1.ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด ที่เป็นบริวารบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ด้วย และ 2.ระบบโครงสร้างการเมืองและสังคมวัฒนธรรมแบบผูกขาดอำนาจและอ้างความชอบธรรมโดยอภิสิทธิ์ชนชั้นนำกลุ่มน้อยได้ด้วย

ประชาชนที่ตื่นตัวสนใจเรื่องการเมืองและสังคม ควรสนใจศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูปประเทศ เศรษฐกิจสังคมไทยแบบวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ โดยยึดหลักวิชาการ (การหาหลักฐานยืนยัน พิสูจน์ การใช้หลักเหตุผลมากกว่าความเชื่อ) และหลักผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในระยะยาว หลีกเลี่ยงที่จะคิดหรือตัดสินใจเลือกเข้าข้างชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง อย่างมีอคติด้วยอารมณ์ ศรัทธา ความเชื่อ แล้วค่อยหาเหตุผลมาอธิบายให้เข้ากับความเชื่อของตนภายหลัง ซึ่งกลายเป็นการต่อสู้เพื่อกลุ่ม พรรคพวก มากกว่าเพื่อชนชั้นของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากไร้หรือเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยในระยะยาวอย่างแท้จริง

ภาพใหญ่ของปัญหาเศรษฐกิจ สังคมของประชาชนไทยคือปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมกึ่งผูกขาดที่เป็นบริวารของบริษัทข้ามชาติ ระบบการเลือกตั้งแบบนายทุนที่มีการซื้อเสียงขายเสียง ใช้อำนาจรัฐ ระบบอุปถัมภ์นโยบายประชานิยมแบบที่มุ่งหาเสียงระยะสั้น และการครอบงำทางการศึกษาและวัฒนธรรม ที่ทำให้ประชาชนยอมจำนนพึ่งพาฝากความหวังไว้ที่ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

แนวทางที่จะแก้ไขสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหานี้ได้คือ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมือง และการปฏิรูปการศึกษาและสื่อ แบบผ่าตัดถึงรากถึงโคน การปฏิรูปนั่นไม่ใช่แค่การตามแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง แต่จะต้องมุ่งผ่าตัดแก้ปัญหาทั้งระบบโครงสร้าง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้ประชาชนมีฐานะ รายได้ การศึกษา การมีงานทำ ที่เป็นธรรมขึ้น ฉลาด และมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง

ควรช่วยกันอธิบายให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจที่ว่าในฐานะพลเมืองผู้เสียภาษี (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม) และเป็นเจ้าของทรัพยากรส่วนรวม ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและควรมีโอกาสที่จะได้รับประชาธิปไตยทั้งทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรม) และประชาธิปไตยทางสังคม (สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม) ควบคู่กันไป

คำว่า สิทธิ หมายถึง สิ่งที่เป็นของประชาชนอยู่แล้ว ประชาชนควรจะมีโอกาสได้รับสิทธิเหล่านี้ โดยไม่ต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณชนชั้นนำกลุ่มใดที่หาเสียงว่าเป็นผู้ให้สิ่งเหล่านี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วชนชั้นนำใช้งบประมาณที่แท้จริงของประชาชนหรือใช้เงินกำไรที่ได้มาจากการเอาเปรียบประชาชน มาจ่ายเหมือนการลงทุนทางธุรกิจการเมือง

สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจน หรือรายได้ต่ำ สิทธิที่สำคัญที่สุดคือสิทธิในเรื่องปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 2 เรื่อง คือ

1.สิทธิที่ประชาชนควรจะได้เป็นเจ้าและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต (เช่น ที่ดิน ทุน และอื่นๆ) มีงานทำที่เหมาะสม ได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม การจะได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง อย่างถึงรากถึงโคน

2.สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพสูง แบบใช้งานเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตัวผู้เรียนได้จริงอย่างทั่วถึง

สิทธิที่สำคัญมากทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรได้รับในฐานะพลเมืองผู้เสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม (เช่น ภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ) ที่รัฐบาลนำไปใช้จ่ายในงบประมาณประจำปีของรัฐ และในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติส่วนรวมของประเทศ (ทั้งน้ำมัน ก๊าซ แร่ธาตุ ป่าไม้ คลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ฯลฯ) ร่วมกัน

ดังนั้น ถ้าหากประชาชนยังไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่เขาควรได้รับ ก็เป็นความผิดพลาด ความบกพร่องของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกไปหรือยอมรับให้บริหารประเทศ และกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน ถ้าประชาชนยังไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้ดังกล่าว ประชาชนมีสิทธิที่จะรวมกลุ่มกันต่อสู้เรียกร้องปกปักรักษาเพื่อได้มา

ถ้าประชาชนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพแบบคิดวิเคราะห์อย่างเป็นตัวของตัวเองเป็น และมีฐานะรายได้แบบพึ่งพาตนเองได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรมมากขึ้น การปฏิรูปใน 2 ด้านนี้จะช่วยทำให้ระบบเลือกตั้งผู้แทน และผู้บริหารระดับต่างๆ มีการซื้อเสียง ขายเสียง การใช้ระบบอุปถัมภ์ นโยบายประชานิยมน้อยลดลง ประชาชนจะรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพิจารณาจากนโยบายและความรู้ ความสามารถของผู้สมัครอย่างมีวิจารณญาณ มีสิทธิและโอกาสตรวจสอบผู้แทนเข้าไปตรวจสอบผลักดันการบริหารการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น

นอกจากทั้ง 2 ข้อนี้แล้ว สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนควรต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาควบคู่กันไปคือ สิทธิในเรื่องที่ทำกินและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของชุมชน สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ หากประชาชนเรียกร้องต่อสู้จนได้รับสิทธิและโอกาสในเรื่องที่กล่าวมาอย่างทั่วถึงเป็นธรรม เราจะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยได้สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งหมายถึงระบอบที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ จะมีสิทธิอำนาจต่อรองใกล้เคียงกัน ไม่ใช่การที่คนกลุ่มน้อยมีสิทธิอำนาจมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่เป็นอยู่

การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง เพื่อกระจายอำนาจและทรัพยากรให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกันเพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ การร่วมมือกัน และสามัคคี (หรือปรองดอง) ในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่สามารถร่วมมือกันทำงานพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันและร่วมมือกับประเทศอื่น พัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารประเทศให้ดำเนินไปอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม เป็นธรรม และยั่งยืนในระยะยาวเพิ่มขึ้นได้อย่างแท้จริง