เร่งเบิกจ่ายเงินกู้ฟื้นเศรษฐกิจ พยุง 'ครัวเรือนยากจน'

เร่งเบิกจ่ายเงินกู้ฟื้นเศรษฐกิจ พยุง 'ครัวเรือนยากจน'

ทิศทางเศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วใน Q2/63 แต่ยังมีความวิตกต่อการตกเป็นครัวเรือนยากจนจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งเบิกจ่ายงบจากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19

แม้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลก ได้รับผลกระทบทั่วหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้หลักจากต่างประเทศ ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว มากกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อย่างไรก็ตามทิศทางเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ปีนี้ ตามข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จีดีพี ไตรมาส 3 ติดลบ 6.4% ปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการณ์ และปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 ที่จีดีพี ติดลบถึง 12.1% ส่งผลให้ สศช. ปรับประมาณการจีดีพีในปีนี้ ติดลบลดลงเหลือ 6% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 7.8% ถึงติดลบ 7.3%

ในวันเดียวกัน สศช.ยังแถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาส 3 โดยระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความยากจนของคนไทย โดยพบว่า คนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ลดลง ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยเป็นหนี้ในระบบ 14% และหนี้นอกระบบ 9% สิ่งที่น่ากังวลคือ “กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง” ที่มีครัวเรือนประมาณ 1.14 ล้านครัวเรือน เสี่ยงต่อการตกเป็น “ครัวเรือนยากจน” จากผลกระทบของโควิด-19

ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่พ้นจุดต่ำสุดในไตรมาสสองของปีนี้ไปแล้ว ทว่ายังมีความวิตกต่อภาวะเสี่ยงต่อการเป็นครัวเรือนยากจนจากผลกระทบของโควิด-19 นับเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหา “ติดสปีด” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอัตราเร่งที่เร็วกว่าเดิม เพื่ออัดฉีดเงินเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายงบจากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติวงเงินกู้ไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท จากจำนวนเงินกู้รวม 4 แสนล้านบาท แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ามีการเบิกจ่ายไปในวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าดำเนินการค่อนข้างล่าช้า ไม่ทันต่อความเร่งด่วนในการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19

นอกจากเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วยวงเงินดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังจำเป็นต้องเติม “ดึงเม็ดเงินใหม่” เข้ามาผลักดันเศรษฐกิจไทย เราเห็นด้วยกับรัฐบาลที่ทยอยเดินหน้า “เปิดประเทศ" ด้วยการดึงการลงทุน และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นโดยกำลังพิจารณาที่จะลดจำนวนวันกักตัว แต่ต้องดำเนินการด้านสุขอนามัยที่ได้มาตรฐานสากล ฐานที่ไทยเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถสกัดการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ขณะที่การอนุมัติเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แพ็คเกจที่สอง วงเงิน “แสนล้านบาท” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาในการประชุมวันนี้ เน้นไปที่การอบรม พัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล นับเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อพยุงการเลิกจ้าง ยกระดับทักษะแรงงาน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหลังโควิด-19 ที่คลื่นดิจิทัลถาโถมทำลายล้างผู้ที่ไม่ปรับตัว แต่ย้ำว่าต้องกำกับการเบิกจ่ายให้รวดเร็ว เท่าทันกับปัญหาที่จอคอหอย ช้านักจะเสียกาล