สศช.-สำนักวิจัยปรับ GDP รับเศรษฐกิจไตรมาส 3 ดีเกินคาด

สศช.-สำนักวิจัยปรับ GDP รับเศรษฐกิจไตรมาส 3 ดีเกินคาด

สศช.เผยจีดีพีไตรมาส 3 ติดลบ 6.4% พ้นจุดต่ำสุด ปรับทั้งปีเหลือติดลบ 6% คาดปีหน้าบวก 4% เตือนเฝ้าระวังไม่ให้ระบาดรอบ 2 ห่วงจ้างแรงงานปีหน้า "สศค.-กสิกร-ซีไอเอ็มบี-ทีเอ็มบี"เล็งปรับจีดีพีติดลบน้อยลง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2563 ลดลง 6.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ รวมแล้วในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีดีพีติดลบ 6.7%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 3 ฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ที่เคยติดลบถึง 12.1% เป็นผลมาจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพิ่มขึ้น 18.5% การอุปโภคภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.4% ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 10.7% การส่งออกสินค้าลดลง 8.2%

ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปีนี้ทุกรายการ ทำให้ สศช.ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปีให้ดีขึ้นจากเดิมลบ 7.8% ถึงลบ 7.3% เป็นลบ 6% 

ส่วนเศรษฐกิจปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวระหว่าง 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4.0% 

“การส่งออกที่ดีขึ้นเป็นผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เพราะเป็นส่วนที่สำคัญในจีดีพีกว่า 60% และในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐเรายังส่งสินค้าไปได้มาก หากการส่งออกยังดีขึ้นเรื่อยๆจนถึงปีหน้าก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย แต่ในเรื่องนี้ก็ต้องระวังการแพร่ระบาดของคู่ค้าสำคัญๆของไทยที่จะกระทบกับการส่งออกได้”นายดนุชา กล่าว 

สำหรับ มาตรการที่ สศช.เห็นว่าควรผลักดันแก้ปัญหาในปี 2564 คือ มาตรการดูแลการจ้างแรงงานและคงการจ้างงานของภาคเอกชนให้มากที่สุด เพราะมีความเสี่ยงหากภาคเอกชนไปต่อไม่ได้อาจปลดแรงงานบางส่วน ซึ่งสถาบันการเงินจำเป็นต้องเข้าไปหารือกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และดูแลลูกค้าเพื่อไม่ให้ในกลุ่มนี้กลายเป็น NPL

ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งในส่วนของงบประมาณปกติที่ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้ที่ 98% ขณะที่งบการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่อยู่ในส่วนเงินกู้ฯ 4 แสนล้านบาท ที่มีการขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท แต่เบิกจ่ายเพียง 9,700 ล้านบาท ต้องเร่งรัดเพิ่มเติม โดย ครม.ตั้งกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน

นายอาคม เติมพิทยไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จีดีพีปีนี้แม้จะยังคงขยายตัวแบบติดลบ แต่ปีหน้าจะขยายตัวเป็นบวกได้ราว 4% แสดงว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นหลังปลดมาตรการล็อกดาวน์

“สิ่งที่เป็นข้อสังเกต คือ การใช้จ่ายประชาชน ซึ่งถ้าเทียบกับปีก่อนติดลบ 0.6% ซึ่งน้อยมาก แต่ว่าถ้าไตรมาสสามเทียบไตรมาส 2 นั้น บวกมา 6.3% อีกเรื่องคือการลงทุนภาครัฐบวกมา 18% เป็นเครื่องยืนยันว่า เศรษฐกิจของเราพื้นฐานดี และช่วงที่จำเป็นต้องล็อกดาวน์เพื่อประโยชน์การแพร่ระบาดป้องกันไว้ก่อน หลังจากที่ มีความมั่นใจว่า ไม่มีระบาดในประเทศ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจเหลือเพียงตัวเดียว คือ ท่องเที่ยวถ้าเปิดได้เชื่อว่าเศรษฐกิจปีหน้าจบวกได้ 4% ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดย สศค.จะประเมินตัวเลขจีดีพีใหม่

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรต้องปรับมุมมองเศรษฐกิจปีนี้เช่นกัน โดยอยู่ในกรอบติดลบ 7-8% จากเดิมคาดติดลบ 10% หลังมีมุมมองเศรษฐกิจดีขึ้นจากการลงทุนภาครัฐ การบริโภคเอกชน ที่กลับมาเติบโตได้ต่อเนื่อง จากโครงการรัฐ ดังนั้นน่าจะเป็นตัวหนุนให้ไตรมาส 4 กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง

แต่เศรษฐกิจไทยยังโอกาสเผชิญอีกหลายปัจจัยเสี่ยงระยะข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้หากจำเป็น แม้ในกรณีพื้นฐาน กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะการดูแลเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังเป็นโจทย์ท้าทายค่อนข้างมาก

ดังนั้นคาดว่า กนง.จะติดตามปัจจัยนี้ใกล้ชิด โดยหากเกิดสถานการณ์พลิกผันจนมีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็จะมีมากขึ้น

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยหดตัวลดลงและมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสอดคล้องทิศทางเศรษฐกิจโลกที่แต่ละประเทศเริ่มหดตัวน้อยลง ซึ่งน่าจะหนุนการส่งออกไตรมาส 4 ปีนี้ให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ควรจับตาในหลายประเด็น คือ 

1.มาตรการกีดกันทางการค้าในปีหน้าด้วยว่าจะยังมีต่อเนื่องหรือไม่เพราะอาจทำให้การค้าโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาดได้ 

2.เศรษฐกิจในประเทศ การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทนและภาคบริการจะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้หดตัวน้อยลงต่อเนื่องในไตรมาส 4 แต่เนื่องจากสินค้าคงทนฟื้นตัวช้าจึงยังส่งผลให้การจ้างงานไม่กลับมาเป็นปกติเร็ว กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังอ่อนแอทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวต่อถึงไตรมาส 1 ปีหน้า

3.ห่วงเรื่องการระบาดรอบ 2 ในประเทศ ซึ่งหากควบคุมได้ดีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยได้ต่อเนื่อง

4.ขณะที่ภาครัฐอาจมีมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลการจ้างงานและเร่งเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวในปีหน้า 

5.มองว่ากำลังซื้อระดับล่าง โดยเฉพาะภาคเกษตรยังอ่อนแอในปีหน้าตามภาวะภัยแล้งที่มีต่อเนื่อง

“ซีไอเอ็มบีไทยอยู่ระหว่างการทบทวนจีดีพีดีขึ้น ซึ่งคาดว่าอยู่ในกรอบลบ 6-7 % จากเดิมที่ คาดติดลบ 7.5%”

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า ศูนย์วิเคราะห์อยู่ระหว่างปรับประมาณการณ์จีดีพีปีนี้ใหม่ หลังสภาพัฒน์ มีการปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยคาดประมาณการณ์จีดีพีใหม่จะอยู่ในกรอบลบ 6% ถึงลบ 8% จากเดิมที่คาดลบ 8%

ทั้งนี้ ให้จับตา ทิศทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 ที่มีโอกาสกลับมาหดตัวกว่าเดิมได้ หากเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด ดังนั้นรายได้ตรงนี้อาจหายไปค่อนข้างมากหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน