สศช.เปิดข้อมูลโควิด เสี่ยงยากจนเพิ่ม 1.1 ล้านครัวเรือน

สศช.เปิดข้อมูลโควิด เสี่ยงยากจนเพิ่ม 1.1 ล้านครัวเรือน

สศช.เปิดข้อมูลโควิด-19 ทำคนไทยเสี่ยงยากจนเพิ่ม ผลกระทบที่เกิดตอกย้ำความเปราะบางทางการเงินค่าใช้จ่ายเพิ่ม รายได้ลดลง

การระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมากกว่าวิกฤติในอดีต เนื่องจากความไม่แน่นอนของการระบาดทำให้ครัวเรือนมีความเสี่ยงต่อการตกเป็นคนจนได้ จากการว่างงานและการมีรายได้ลดลง ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้น แต่ยังต้องเพิ่มมาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ระบุถึงสถานการณ์ความยากจนก่อนผลกระทบของโควิด-19 

จากการสำรวจผลกระทบจากโควิด-19 ด้านเศรษฐกิจ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้สำรวจวันที่ 23 เม.ย.-17 พ.ค.2563 จำนวน 27,429 ตัวอย่าง พบว่า ช่วงระบาดโควิด-19 กลุ่มตัวอย่าง 54% มีรายได้ลดลง และ 33% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 14% ก่อหนี้ในระบบเพิ่มขึ้น และ 9% ก่อหนี้นอกระบบ

สำหรับสาเหตุที่ครัวเรือนมีรายได้ลดลงเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2-3 ปี 2563 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากจากที่มีอัตราการว่างงานเฉลี่ย 1.0% เพิ่มเป็น 1.95% ในไตรมา 2 และ 1.9% ในไตรมาส 3 ปีนี้

ขณะเดียวกันแรงงานที่ถูกเลิกจ้างบางส่วนย้ายไปทำงานภาคเกษตรหรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้น้อยและไม่แน่นอน ส่วนสถานประกอบการที่เปิดดำเนินการได้ลดชั่วโมงการทำงานลงต่อเนื่องส่งผลให้แรงงานมีรายได้ลดลง

หากพิจารณาผลกระทบต่อความยากจนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา พบว่า ทุกครั้งที่มีวิกฤติจะมีครัวเรือนที่ตกเป็นคนยากจนเพิ่มขึ้น เช่น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งเกิดจากการโจมตีค่าเงินและกระทบต่อภาคการเงินและภาคธุรกิจช่วงดังกล่าวมีคนจนเพิ่มขึ้นจาก 20.3 ล้านคนในปี 2539 เป็น 22.7 ล้านคนในปี 2541 และ 25.8 ล้านคนในปี 2543 

“วิกฤติซับไพรม์” ที่เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดในสหรัฐที่กระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้นจาก 12.7 ล้านคน ในปี 2551 เป็น 13.1 ล้านคน ในปี 2552

สำหรับการระบาดของ “วิกฤติโควิด-19” ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ ความยากจนในปี 2563 ผ่านกลุ่มครัวเรือนต่างๆ ดังนี้

160553211164

1.กลุ่มครัวเรือนยากจนจะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะคนยากจนเมือง เมื่อพิจารณารายได้ของคนยากจน พบว่า รายได้ส่วนใหญ่ (ประมาณ 50%) มาจากค่าจ้างและรายได้จากการประกอบธุรกิจ (ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ) ซึ่งเศรษฐกิจหดตัว ทำงานได้น้อยลง และการถูกเลิกจ้าง จึงกระทบรายได้กลุ่มนี้ค่อนข้างมาก 

โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมืองที่นอกจากรายได้ลดลงแล้วการอาศัยอยู่ในเมืองยังมีภาระค่าครองชีพที่สูง และมีภาระค่าใช้จ่ายการดูแลตนเองเพื่อไม่ให้ติดโควิด-19 จากการหาซื้อหน้ากากอนามัย หรือเจลแอลกอฮอล์ซึ่งมีราคาแพง รวมถึงที่อยู่อาศัยที่ไม่เอื้อต่อการกักตัว หากมีสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าครัวเรือนในชนบท 

จากการสำรวจคนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่า 60.24% รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ส่วน 31.21% รายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งคนจนเมืองต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐและภาคเอกชนที่แจกจ่าย อาหารและของอุปโภค โดยคนจนเมืองจำนวนมากต้องกู้หนี้ยืมสินหรือนำของใช้ในบ้านไปจำนำเพื่อหาเงินมาประทังชีวิต

2.กลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่เสี่ยงเป็นครัวเรือนยากจนจากผลกระทบของโควิด-19 มีจำนวนครัวเรือน 1.14 ล้านครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนเปราะบางนี้เป็นครัวเรือนที่ไม่ใช่ครัวเรือนยากจน แต่มีสถานะความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับครัวเรือนยากจนมาก ได้แก่

กลุ่มครัวเรือนที่พึ่งพิงรายได้จากเงินช่วยเหลือจากบุคคลอื่นภายนอกครัวเรือน ครัวเรือนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย ครัวเรือนไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนสูงอายุ และครัวเรือนแหว่งกลาง หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งครัวเรือนกลุ่มนี้รายได้หลักไม่ได้เกิดจากการทำงาน แต่เป็นรายได้จากเงินช่วยเหลือของรัฐ หรือเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือน 

ดังนั้น เมื่อโควิด-19 กระทบต่อรายได้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเมืองหรือแหล่งอุตสาหกรรมจะทำให้โอกาสที่แรงงานส่งเงินกลับไปช่วยเหลือครอบครัวในต่างจังหวัดลดลง

กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานลดลงมาก ครัวเรือนกลุ่มนี้ แบ่งได้เป็น

ครัวเรือนที่สมาชิกครัวเรือนทำงานในสาขาที่เสี่ยงต่อการตกงาน เช่น ภาคการท่องเที่ยวและครัวเรือนที่ประกอบอาชีพอิสระ 4.67 แสนครัวเรือน ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำงานและประกอบอาชีพอิสระ (61.3%) เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่ได้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวรุนแรงทำให้รายได้ครัวเรือนกลุ่มนี้ลดลงมาก

กลุ่มครัวเรือนเกษตรที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินน้อย ประมาณ 0.49 แสนครัวเรือน ซึ่งแม้ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง แต่มีความไม่แน่นอนของรายได้อยู่เดิมแล้ว จากปัญหาไม่มีที่ดินทำกินหรือมีที่ดินทำกินน้อย และมักจะอ่อนไหวต่อปัจจัยที่เข้ามากระทบและทำให้ตกเป็นคนจนได้ง่าย ซึ่งมีปัจจัยกระทบกับกลุ่มนี้ทั้งปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงกลางปี 2563 และ ประสบอุทกภัยตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้ เป็นต้นมา

สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาความยากจน แม้รัฐมีมาตรการช่วยครัวเรือนทั้งการช่วยเหลือในภาพรวมและเจาะจงกลุ่มคนจน (โครงการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดที่อาจกระทบเศรษฐกิจอีกระลอก จึงต้องมีมาตรการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และเร่งรัดการแก้ปัญหา ดังนี้ 

1.การใช้กลไกท้องถิ่นในการเข้าไปค้นหากลุ่มเป้าหมาย ดูแลกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เพื่อให้กลุ่มคนจนเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐรวดเร็ว และตรงกลุ่มเป้าหมาย นอกจากการใช้กลไกของรัฐคือ กระทรวง จังหวัด อำเภอ ในการจัดการเรื่องดังกล่าวแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

2.การเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อจ้างงานโดยเร็ว เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้และรักษาระดับการบริโภค

3.การอำนวยความสะดวกในการสร้างงาน โดยการหาตำแหน่งงานว่าง การฝึกอาชีพ และการให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งทุนสินเชื่อที่เหมาะสม รวมทั้งการตลาดและสถานที่ค้าขาย

ขณะที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี2563 มีมูลค่า 13.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็น 83.8%ต่อจีดีพี เป็นผลจากการหดตัวเศรษฐกิจรุนแรง สะท้อนความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงทางรายได้และการมีงานทำจากวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ตอนนี้ต้องเฝ้าระวังปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ณ สิ้นไตรมาส 2 พบเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ 152,501 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% มีสัดส่วน 3.12% ต่อสินเชื่อรวม"

ขณะที่แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 คาดว่า ความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น และเอ็นพีแอลมีแนวโน้มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่สัญญาณการฟื้นตัวยังไม่ชัดเจน ตอกย้ำถึงความเปราะบางทางการเงินและปัญหาเชิงโครงสร้างครัวเรือนไทย จากการขาดหลักประกันและภูมิคุ้มกันในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้แม้ภาครัฐและสถาบันการเงินจะมีมาตรการรช่วยเหลือลูกหนี้ แต่เมื่อระยะเวลาช่วยเหลือสิ้นสุดลงและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว จะเสี่ยงเกิดหนี้เสียจำนวนมาก และครัวเรือนจะก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐและสถาบันการเงินในการออกแบบนโยบายแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสภาวะความไม่แน่นอนที่สูง