'ย่านโยธี' ศูนย์รวมนวัตกรรมการแพทย์ พัฒนาวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต

'ย่านโยธี' ศูนย์รวมนวัตกรรมการแพทย์ พัฒนาวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต

ถนนโยธี ราชวิถี พญาไท พระรามหก และศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการสุขภาพ เนื่องจากมีโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 20 แห่ง

จากศักยภาพดังกล่าว นำมาซึ่งการพัฒนา "ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” ศูนย์รวมนวัตกรรมการแพทย์ วิจัย สร้างผลิตภัณฑ์เชิงมูลค่า และเป็นพื้นที่นวัตกรรมต้นแบบในอนาคต

ความร่วมมือภายใต้การทำงานร่วมกันของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาเทคโนโลยีชุด Portable Chest x-ray : CXR วิเคราะห์ภาพเอ็กซเรย์ทรวงอก ในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากโควิด-19 ลดภาระหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์, การทำงานร่วมกับ รพ. ในกทม. รวมเตียงเพื่อเตรียมพร้อมในช่วงโควิด-19 หรือ สนับสนุนการพัฒนาแอปฯ “Pharmasafe” ช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs หายเร็วขึ้น เป็นต้น ถือเป็นการยกระดับสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น

ล่าสุด นำมาซึ่ง การลงนามบันทึกความร่วมมือคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สหสถาบันย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Joint IRB YMID : Multicenter Medical Innovation Clinical Trial) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 6 องค์กร ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมแพทย์ทหารบก มหาวิทยาลัยมหิดล เครือโรงพยาบาลพญาไทและเครือโรงพยาบาลเปาโล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงาน บุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยภายในย่าน ให้สามารถยื่นขอพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือในคนได้รวดเร็วอย่างมีมาตรฐาน จากเดิมที่ใช้ระยะเวลาเป็นปี เพิ่มศักยภาพในการทำงาน ส่งเสริมให้เกิดผลงานวิจัยภายในย่านสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งขยายขอบเขตความร่วมมือไปสู่ระดับประเทศได้

160552345957

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี กล่าวว่า การรวมพลังทางสังคมและปัญญาขององค์กรเหล่านี้ จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้ง มีการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีโอกาสในการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมด้านนี้

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการแก้ปัญหาคอขวดของการวิจัยทางคลินิก หรือ “การวิจัยในมนุษย์” ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ แต่เนื่องจากทุกองค์กรในย่านมีระบบการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ที่แตกต่างกัน ทำให้การรับรองโครงการวิจัยสหสถาบัน เกิดความล่าช้าติดขัดไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรฐานระดับสากล

“ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ ศรินนภากร” ประธานกรรมการการพิจารณาโครงการวิจัย โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายว่า การวิจัยในมนุษย์ ต้องใช้ผู้ร่วมวิจัยตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันคน ผู้วิจัยจึงต้องยื่นคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมในแต่ละแห่ง ขณะเดียวกัน แต่ละแห่งก็ต้องคุ้มครองผู้เข้าร่วมวิจัยในสถาบัน หรือ รพ. ของตนเอง เพื่อคุ้มครองและพิจารณาว่างานวิจัยดีหรือไม่ หากมีการแก้ไขที่หนึ่ง ก็ต้องแก้ทุกๆ ที่ด้วย เพราะถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้ส่วนใหญ่จะไม่ติดปัญหาแต่ก็ต้องมายื่นกระบวนการเปลี่ยนแปลง

160552345936

ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการให้ผู้วิจัย ยื่นพิจารณาเพียงครั้งเดียว เสนอให้แก้ไข ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และนำเสนอใหม่พร้อมกัน โดยความร่วมมือการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ลักษณะดังกล่าว มีหน่วยงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข , คณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัย (Central Research Ethics Committee หรือ CREC วิจัยยา และล่าสุด คือ Joint IRB YMID ซึ่งจะเริ่มต้นด้านนวัตกรรมเป็นหลัก ในสถานพยาบาลย่านโยธีก่อน

“จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สิ่งสำคัญ คือ แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับงานวิจัยตามความเป็นจริง ห้ามเปิดเผยข้อมูลคนไข้ คำนึงถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ผู้วิจัยต้องมีกระบวนการให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุดจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที และต้องชดเชยตามความเหมาะสม มีความเท่าเทียมกัน”

ทั้งนี้ การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการวิจัย หากเป็นยาหรือวัคซีน จะต้องใช้ผู้ป่วยจำนวนมาก เพื่อให้มีมาตรฐานและความถูกต้อง การคัดเลือกอาสาสมัคร คำนึงถึงคนไข้ได้ประโยชน์ กลุ่มไหนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ควรใช้

อย่างไรก็ตามการวิจัยที่วงการแพทย์ให้ความสนใจในขณะนี้ คือเรื่องโควิด-19 ซึ่งความยากของวัคซีน คือ ความปลอดภัย เพราะวัคซีนในอดีต บางครั้งเกิดผลข้างเคียงตามมาหลังจากได้รับไปแล้ว ดังนั้น อาจจะไม่สามารถบอกได้ถึงความปลอดภัยในช่วง 1 – 2 ปี ขณะเดียวกัน แม้ผลิตวัคซีนได้ ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะป้องกันได้ทุกคน และป้องกันได้กี่ปี ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย และผลข้างเคียงระยะยาว โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกระบวนการทดลอง

“การพัฒนาทางการแพทย์ หากจะเติมเต็มต้องทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ จะสามารถต่อยอด ทำให้เกิดสิ่งที่มีคุณค่า แต่ตอนนี้เราขาดการเชื่อมโยง ดังนั้น YMID จึงทำหน้าที่เชื่อมโยงในจุดนี้” ศ.คลินิก นพ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย