'นวัตกรรมอาหาร' สำหรับคนมีเวลาน้อย

'นวัตกรรมอาหาร' สำหรับคนมีเวลาน้อย

แม้"นวัตกรรม"จะช่วยให้การกิน การอยู่ง่ายขึ้น แต่ในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ ก็ต้องคำนึงถึง ไม่เช่นนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย

 แม้คนจำนวนมากจะคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น อยากบริโภคอาหารสดใหม่ ปราศจากสารพิษ แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบบางมื้อจึงต้องการอาหารที่กินได้เร็วๆ และเก็บไว้ได้นาน อาหารปัจจุบันและในอนาคต จึงถูกพัฒนาด้วยนวัตกรรมมากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสไปดูงาน และเรียนรู้การใช้นวัตกรรมทางอาหารที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ (CPF Food Research and Development Center) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นอีกความก้าวหน้าในการผลิตอาหาร 

160551352474

(ซาลาเปารูปเห็ด อีกนวัตกรรมทางอาหาร)

ที่นี่มีโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ใช้ในการทดลองผลิตสินค้าอาหารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยทำงานเป็นทีม ร่วมกับนักวิจัย เชฟ นักวิทยาศาสตร์ และตั้งเป้าไว้ว่าจะบุกตลาดธุรกิจสินค้าอาหารในประเทศจีน ที่มีผู้บริโภคชนชั้นล่างซึ่งมีกำลังซื้อกว่า 400 ล้านคน โดยใช้วัตถุดิบจากภาคการเกษตรไทย

ส่วนอาหารสำเร็จรูปในประเทศไทย แม้จะเป็นอาหารพื้นๆ จำพวกข้าวผัดกะเพรา ข้าวผัดปู หรือกุ้ง ก็มีนวัตกรรมการผลิตขนาดใหญ่ โดยวิทยากรนำชม บอกว่า ปกติอาหารที่ขายในร้านสะดวกซื้อ จะเก็บได้นานไม่เกิน 10 วัน ต่อไปอาหารบางชนิดจะพัฒนาให้เก็บได้นานกว่าสามเดือนด้วยนวัตกรรมที่ทดลองแล้วว่าปลอดภัยสำหรับมนุษย์

“เราทำตั้งแต่วิจัยรสชาติอาหาร และกลิ่นอาหาร อย่างเราทำข้าวกะเพรา จะต้องนำกะเพรามาต้มก่อนให้มีกลิ่นหอม หรือข้าวผัดก็ต้องมีกลิ่นกะทะไหม้ๆ นิดหนึ่ง”

เพราะพัฒนาเรื่องอาหารและการเกษตรมานาน การนำนวัตกรรมมาใช้จึงไม่ใช่เรื่องยาก พวกเขามีทีมวิจัยทำหน้าที่พัฒนาสูตรอาหารจากเชฟ ซึ่งผ่านเกณฑ์คุณภาพในเรื่องของรสชาติ รสสัมผัส กลิ่น และความสะอาดปลอดภัย เพื่อทำเป็นสูตรที่พร้อมรองรับกับการเพิ่มปริมาณในสายการผลิตของระบบอุตสาหกรรมอาหาร โดยคงความอร่อยเอาไว้

สำหรับกระบวนงานพัฒนานวัตกรรมทางอาหาร มีดังนี้

1.การวิจัยอาหารเชิงลึก วิจัยโปรตีนในอาหาร เพื่อให้ได้งานวิจัยคุณภาพ โดยทีมนักวิทยาศาสตร์

2. ปรับงานวิจัย เพื่อพัฒนาสินค้า ซึ่งเป็นการผสมผสานศาสตร์และศิลป์ด้านอาหาร โดยมีเชฟเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ได้ทั้งโภชนาการและรสชาติถูกปาก เพื่อนำไปต่อยอดสินค้าสู่โรงงาน ด้วยการทดลองภายในโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ทั้งการทดลองตัวสินค้าและการทำตลาด ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตในระดับโรงงานต่อไป

นวัตกรรมเรื่องอาหารเหล่านี้ ยังมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีผลิตอาหารสุขภาพสำหรับคนในทุกช่วงวัย, อาหารเพื่อผู้ป่วย อาหารเพื่อผู้สูงวัย หรือ อาหารเพื่อคนที่นอนไม่หลับ รวมถึงนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รวมถึงซอสปรุงรสได้ทันที

160551332016

(ร้านค้าที่เป็นผู้ค้ารายใหญ่สุดของประเทศ ที่นำนว้ตกรรมต่างๆ มาใช้กับผลิตภัณฑ์ทางอาหาร)

และผลจากการวิจัยพัฒนาอาหารอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา  ทำให้ปัจจุบันกลุ่มนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งประกอบด้วย

-อาหารกลุ่ม Smart Meal : กลุ่มสินค้ามังสวิรัติ (Vegetarian Food) อาหารทางเลือกทีใส่ใจสุขภาพ ด้วยเมนูที่หลากหลาย ไม่มีเนื้อสัตว์ 100% ทำจากโปรตีนจากพืช, เต้าหู้, ธัญพืช ใยอาหารสูง เป็นแหล่งของโปรตีน 

-อาหารกลุ่ม Smart Soup : กลุ่มสินค้าซุปเพื่อสุขภาพ ใช้กระบวนการผลิตที่ทันสมัย ง่ายต่อการรับประทาน เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีปัญหาด้านการเคี้ยว การกลืนอาหาร เช่น ผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยาง, ผู้ป่วยระยะพักฟื้น และผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังมีอาหารกลุ่มอื่นๆ อีกและล่าสุด ได้พัฒนา เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รับยุคโควิด 3 แบบ ได้แก่ 1. เบต้ากลูแคน IMU ผลิตจากเห็ดหูหนูขาวสกัดธรรมชาติ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดอาการภูมิแพ้ 2. แอลธีอะนิน DEEP สกัดจากยอดชาเขียวญี่ปุ่น ช่วยปรับสมดุลคลื่นสมอง ช่วยให้นอนหลับลึก ผ่อนคลายความตึงเครียดก่อนนอน 3. FRESH สกัดจากน้ำทับทิม และชาเขียว ช่วยปลุกสมอง คืนความสดชื่นระหว่างวัน โดยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทั้ง 3 ชนิดนี้ สามารถเก็บรักษาคุณค่าทางอาหารในอุณหภูมิห้องปกติได้ถึง 1 ปี

นี่คือเรื่องคร่าวๆ ที่อยากเล่าให้ฟัง เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางอาหารและการทำตลาดแบบชาญฉลาด ส่วนสรรพคุณจะเหมือนอาหารจากธรรมชาติหรือไม่ คงต้องเลือกบริโภคกันเอง

.........................

รายงานจากการร่วมกิจกรรม : โครงการ มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ 3 ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย