'เท้าสะเอวสู้โลก'แบบซูเปอร์แมน แค่เท่หรือช่วยเพิ่มพลังอำนาจ

'เท้าสะเอวสู้โลก'แบบซูเปอร์แมน แค่เท่หรือช่วยเพิ่มพลังอำนาจ

อีกการทดลองให้ลองทำท่าทางแตกต่างกัน แรกๆ มีนักวิจัยบอกว่า “การเท้าสะเอว” สามารถเพิ่มพลังอำนาจได้ แต่ก็มีอีกงานวิจัยลบล้างเรื่องนี้

ท่าเท้าสะเอวของซูเปอร์แมนหรือวอนเดอร์วูแมน มีเอาไว้ให้ดูเท่ๆ แค่นั้น หรือจะมีอำนาจเสริมเพิ่มพลังได้อย่างในคำภาษาอังกฤษเรียกขานว่าเป็น power poses หรือ “ท่าทรงพลัง”

หากเป็นคนไทยทั่วไปก็คงถกกันเล่นๆ ขำๆ ว่า ยังไงกันแน่

แต่เชื่อไหมครับว่า…มีฝรั่งทำวิจัยด้วยว่า ยืนทำท่าแบบนี้ แล้วมันไปเพิ่มความมั่นอกมั่นใจได้ด้วยจริงหรือไม่ !

เรื่องของเรื่องก็คือ มีงานวิจัยที่ออกมาในปี 2010 ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science (ฉบับ 21 ก.ย.) โดย แดนา คาร์นีย์ (Dana Carney) เอมี คัดดี้ (Amy Cuddy) และแอนดี แยบ (Andy Yap) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและฮาร์วาร์ด

การทดลองก็ไม่ซับซ้อนมากนัก ผู้วิจัยให้ผู้เข้าร่วมทดลองทำท่าทางต่าง ๆ ครอบคลุมกลุ่มท่าทางแบบ “ปิด” เช่น การท้าวคาง การก้มหน้า การกอดอก ฯลฯ ซึ่งแสดงนัยยะของอาการไร้เรี่ยวแรงหรือพลัง

ในทางตรงกันข้าม อีกกลุ่มก็แสดงท่าทางแบบ “เปิด” เช่น การเท้าสะเอว การยกมือขึ้นผายออกเหนือหัว การยืนโน้มตัวไปข้างหน้า การนั่งไขว่ห้างเอามือทั้งสองข้างพาดศีรษะ ฯลฯ นาน 1 นาที

จากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองปฏิบัติภารกิจคือ เข้าร่วมแข่งพนัน โดยแต่ละคนจะได้รับเงิน 2 เหรียญ และมีโอกาสเสี่ยงให้ได้เงิน 4 เหรียญหรือสูญเงิน 2 เหรียญของตัวเองไป โดยโอกาสเสี่ยงอยู่ที่ 50/50 พร้อมกับโดยให้แต่ละคนระบุว่าตัวเองรู้สึกว่า “กล้าเสี่ยง” มากเพียงใดในระดับ 1–4

พวกเขาสรุปจากผลการทดลองว่า แค่การทำท่าทางแตกต่างกันแบบนี้ ก็ช่วยทำให้ร่างกายเกิดการหลั่งฮอร์โมน จนทำให้เกิดพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง!

ท่าทางทรงพลังอย่าง “การเท้วสะเอว” สามารถไปทำให้มีการเพิ่มระดับของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (เพิ่มความดุดัน ก้าวร้าว) ลดระดับคอร์ทิซอล (ซึ่งออกมากเวลาเครียด) และยังไปช่วยเพิ่มความรู้สึกมีอำนาจและความกล้าเสี่ยงต่างๆ ในที่นี้คือ กล้าเสี่ยงโชค

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าท่าทางแสดงอำนาจแบบนี้มีข้อดี คือ อาจช่วยเรื่องปรับตัวได้ดีทั้งทางสรีรวิทยา จิตวิทยา และพฤติกรรม

แถมที่สำคัญคือออกผลเร็วมาก แค่ทำท่าเพียงนาทีเดียวก็ออกฤทธิ์แล้วครับ ว้าว! อ่านแล้วแทบจะกระโดดลุกมาเท้าสะเอวกันเลยทีเดียวใช่ไหมครับ

ต่อมาในเดือนกันยายน 2012 คัดดี้และทีมนี้ ยังตีพิมพ์ใน Harvard Business School Working Paper (13-027) เรื่องผลการทดลองเพิ่มเติมว่า หากสมมติให้ผู้เข้าทดลองต้องกล่าวแนะนำตัว และพูดคุยจำลองสถานการณ์การเข้าสัมภาษณ์งาน

เมื่อนำวิดีโอการทดลองมาวิเคราะห์ก็พบว่า พวกที่แสดงกลุ่มท่าทางแบบเปิดมากกว่า “ระหว่างการเตรียมตัวก่อนพูด” จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองได้ดี พูดมีเนื้อหาและวางโครงสร้างการพูดดี รวมทั้งมั่นอกมั่นใจและพูดได้จับใจผู้ฟังมากกว่า

สาเหตุที่ต้องบันทึกท่าทางก่อนการสัมภาษณ์ ก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก ลองนึกภาพว่านั่งสัมภาษณ์แล้ว เอนหลังสบายใจ เอามือรองศีรษะไปคุยไป หรือถึงกับเอาเท้าขึ้นมาพาดโต๊ะ กรรมการสัมภาษณ์คงรู้สึกเป็นลบมากกว่าบวกแหงๆ เลยครับ

ข้อสรุปจากการทดลองก็คือ เมื่อประเมินผลการสัมภาษณ์ พบว่าผู้ที่ทำท่าทรงพลังมีโอกาสจะได้รับการจ้างงานมากกว่า...ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่า การทำท่าแตกต่างกันแค่นี้ สร้างความแตกต่างได้มากขนาดนั้นเลยทีเดียว

ภายหลังคุณคัดดี้ เธอยังไปเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งขายดิบขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์เสียด้วย ชื่อ Presence: Bringing Your Boldest Self to Your Biggest Challenges แถมได้รับเชิญไปพูดเรื่องนี้บ่อยๆ รวมทั้งใน TED Talk ซึ่งมีคนดูและอ้างอิงเป็นล้านคนอีกด้วย

แต่ก็นั่นแหละครับ มีคนคิดสงสัยว่า “มันง่ายไปไม๊?”

มีงานวิจัยโดยทีมจากมหาวิทยลัยซูริกและดาร์ทเมาท์คอลเลจ นำโดยโรเบิร์โต เวเบอร์ (Roberto Weber) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Science ปี 2015 (vol. 26(5), 653-656) ที่ทำซ้ำการทดลองนี้และทำเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย

พวกเขาสรุปผลว่า จากการทดลองที่ใช้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าในคราวนี้ คือ 200 คน (ในการทดลองปี 2010 ใช้ 42 คน) ได้ผลที่ค้านกันอย่างเห็นได้ชัด ท่าทรงพลังไม่ได้ส่งผลอย่างที่กล่าวอ้างไว้แต่อย่างใด รวมทั้งเมื่อวัดระดับฮอร์โมนจากน้ำลายก่อนและหลังทดลอง ก็ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอย่างเด่นชัดแต่อย่างใด

ต่อมาคาร์นีที่เป็นหนึ่งในตัวหลักผู้ทดลองในปี 2010 ก็แสดงจุดยืนว่า ขอกลับลำเรื่องข้อสรุปในเปเปอร์ดังกล่าว และผลการทดลองอาจจะมีความคลาดเคลื่อนบางอย่างอยู่ เพราะมีเปเปอร์ที่พยายามทำซ้ำ แต่ได้ผลไม่ตรงกันอยู่หลายเปเปอร์

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะจำนวนตัวอย่างผู้เข้าทดลองน้อยเกินกว่าจะสรุปได้แน่นอน และ การออกแบบการทดลองอาจไม่รัดกุมพอ เพราะผู้ควบคุมการทดลองบางคนรู้รายละเอียดและสมมุติฐานตั้งต้นชัดเจน จนอาจจะมีอคติทำให้ผลการทดลองผิดเพี้ยนได้

เรื่องนี้ถ้าเป็นคนนอกวงการวิทยาศาสตร์ อาจจะแสดงอาการประหลาดใจว่า เอ๊ะ ขนาดคนทำเองยังเปลี่ยนใจได้ “แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ” แต่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์แล้ว การยอมรับผลที่ต่างไปเมื่อมีการทดลองใหม่ที่รัดกุมมากขึ้น เป็นเรื่องไม่แปลกอะไรมากนะครับ

อดเสียดายไม่ได้นะครับว่า ท่า “เท้าสะเอวสู้โลก” แบบซูเปอร์แมนหรือวอนเดอร์วูแมน น่าจะเป็นแค่เป็นเรื่องเท่ๆ ที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มพลังหรือกำลังใจอะไรเลย!