'นปช.' คาด ร่างรธน.ผ่านสภาแค่ของ 'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน'

'นปช.' คาด ร่างรธน.ผ่านสภาแค่ของ 'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน'

'นปช.' คาด ร่างรธน.ผ่านสภาแค่ของ 'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน' แต่คว่ำของไอลอว์ อัด ยื่นศาลตีความอำนาจตัวเองเกมยื้อเวลา

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการลมหายใจพีซทีวี เวทีทัศน์ ว่า จะมีสถานการณ์หลากหลายทางการเมืองถัดจากนี้ไป เนื่องจากในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้สภาจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ โดยแบ่งเป็นของฝ่ายรัฐบาล 1 ร่าง และของฝ่ายค้าน 5 ร่าง รวมถึง ของไอลอว์ 1 ร่าง ดังนั้นวันที่ 17–18 พฤศจิกายนนี้ สถานการณ์จะทำให้เห็นว่า การเมืองก็จะแคบมากขึ้น วงในเชื่อขนมกินได้ว่า สภาจะผ่านอนุมัติเพียงแค่ 2 ร่างเท่านั้นหรืออาจจะร่างเดียว คือ ร่างของรัฐบาลที่แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดรวมถึงยกเว้นหมวด 1 และ 2 ส่วนร่างของพรรคฝ่ายค้านคือแก้ไขมาตรา 256 ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ร่างที่แก้ไขรายมาตราอีก 4 ร่างของพรรคฝ่ายค้านคงจะถูกตีตก รวมถึงร่างสุดท้ายคือร่างของไอลอว์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของผู้ชุมนุม

“เมื่อวานนี้ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ ไผ่ ดาวดินได้นัดหมายว่าวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้จะเดินทางไปที่รัฐสภา ขณะเดียวกันหากฟังจากประธานสภาก็พิจารณาเรียงตามรายฉบับ แต่อย่างไรก็ตามนั้น ส.ว.จะต้องใช้เสียง 84 คือ 1 ใน 3 นั้นก็จะโหวตคว่ำ เหมือนกับร่างที่เป็นรายมาตรา นี่คือกระดานการเมืองที่ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่น เพราะเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ได้ออกแบบไว้นั้น ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการแก้ไข แต่ออกแบบไว้เพื่อส่งให้คณะรัฐประหารชุดใหม่ไว้ฉีกเท่านั้น”

นายจตุพร กล่าวว่า แม้ว่าสภาจะโหวตรับ 2 ร่างก็ตาม แต่ประชาชนจะไม่พอใจ บรรดานิสิตนักศึกษานักเรียนเมื่อเห็นว่าร่างของไอลอว์ถูกตีตก แม้จะมีการอธิบายว่าให้รับหลักการไปก่อนแล้วค่อยไปพิจารณากันในวาระ 2 แต่ตนดูท่าทีทั้ง ส.ว. และพรรครัฐบาลคงให้ผ่านเพียงแค่ 2 ร่าง และตีตกร่างของไอลอว์ ทั้งนี้ที่ผ่านมา ร่างของประชาชนในการเสนอแก้ไขกฎหมาย หรือการเสนอกฎหมายก็ตาม ไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่เพียงครั้งเดียว ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ร่างของภาคประชาชนก็ถูกตีตกไป ดังนั้นประเทศไทยไม่เคยมีการแก้ไขกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนสำเร็จแม้แต่ฉบับเดียว และแม้จะมีการอธิบายว่าสภาอำนาจเป็นของประชาชน แต่ไม่เคยเป็นของประชาชนแม้แต่เพียงครั้งเดียว อีกทั้ง ส่วนตัวเชื่อว่าชนวนก็จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ แต่ที่สำคัญแม้ 2 ร่างจะผ่าน การประชุมรัฐสภานัดถัดไปก็จะต้องบรรจุเรื่องที่ ส.ว.และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐยื่นญัตติผ่านสภาเพื่อขอให้ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างที่ตัวเองเสนอไปนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“จึงเท่ากับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ตัวเองสงสัยตัวเอง และก่อนหน้านี้ในสภาสมัยที่ผ่านมานั้นหลังจากอภิปรายจบก็เกิดแนวความคิดกันว่า ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษา ร่างของตัวเองและร่างของคนอื่นหลังจากอภิปรายเสร็จสิ้น ซึ่งตอนที่ตนอยู่ในสภาก็ไม่เคยพบเคยเห็น เพราะบรรดาสมาชิกรัฐสภา ไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง จะได้รับร่างก่อนที่จะอภิปรายคือจะต้องศึกษา ต้องรู้อะไรกันเสร็จ อภิปรายจบต้องโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงเท่านั้น แต่สภาชุดนี้กลับเสนอตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาว่าร่างที่อภิปรายจบไปแล้วนั้นหมายความว่าอย่างไร เอาคนปัญญาอ่อนมานั่งประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายกันหรืออย่างไร”

นายจตุพร กล่าวว่า กระบวนการขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้เกิดเรื่องได้ตลอดเวลา และตนก็ทายไปก่อนว่า วันที่ 17 พ.ย. นี้ คงออกทางประตูได้ แต่วันที่ 18 พ.ย.น่าจะออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะ ไม่ได้ช่วยให้ สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นมา ดังนั้น กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา คือไม่ตั้งใจ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น แต่เรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งในวาระเร่งด่วนคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในการประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ยังได้พูดต่อสภา ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมนี้ แต่กลับมี ส.ส. ส.ว.ในซีกรัฐบาลเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกนั้น อย่างนี้จะเสร็จทันเดือนธันวาคมหรือไม่ และอย่าอ้างว่าสั่งใครไม่ได้ หากพลเอกประยุทธ์สั่งใครไม่ได้ ตนก็อยากร้องขอให้พลเอกประยุทธ์ สั่งตัวเอง ให้ลาออก