เปิดมุมมองและความคิดในยุค New Normal : New Coolture

เปิดมุมมองและความคิดในยุค New Normal : New Coolture

โควิดเปลี่ยนโลก โควิดเปลี่ยนเรา เก็บตกมุมมองและความคิดในยุคปกติใหม่จากเวทีเสวนา New Normal : New Coolture โดยกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

เพื่อเป็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปรับตัวในยุคความปกติใหม่ และส่งเสริมการทูตวัฒนธรรม  กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศ จัดเสวนาในหัวข้อ  New Normal: New Coolture  โดยเชื้อเชิญศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม กุลวิทย์ เลาสุขศรี  บรรณาธิการบริหารนิตยสารแฟชั่นโว้กไทยแลนด์ (VogueThailand) ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และผู้บริหาร GDH และ ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The Cloud มาร่วมนำเสนอมุมมองและความคิด โดยมี เชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

อ่านต่อฉบับหน้าลาก่อน

กุลวิทย์ เลาสุขศรี  บรรณาธิการบริหารนิตยสารแฟชั่นโว้กไทยแลนด์ (Vogue Thailand) กล่าวถึงการทำนิตยสารในวันนี้ว่าหมดแล้วกับคำว่ารายปักษ์ หรือ สองสัปดาห์แล้วพบกัน โดยเฉพาะคำว่าอ่านต่อฉบับหน้า วิถี New Normal ไม่มีคำนี้อีกแล้ว

160536426663

“ก่อนการมาถึงของ New Normal สื่อสิ่งพิมพ์พบกับ Digital disruption มา 4-5 ปีแล้ว คนทำสื่อสิ่งพิมพ์จากที่เคยทำนิตยสาร 2 เดือนล่วงหน้ามาตลอด ขายโฆษณา มีสถานที่ขาย พอเกิด Digital disruption เราต้องปรับตัวเองเป็น Content provider  เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่จบที่นิตยสารอีกต่อไป

เราทำ Digital platform ครอบคลุมตั้งแต่เว็บไซต์ Facebook  IG  เราจะไม่มีคำว่า อ่านต่อในฉบับหน้า ไม่มีรายปักษ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในนิตยสารเล่มนี้ไม่ได้จบตรงนี้คุณไปสามารถหาอ่านได้ใน  ใน Digital platform ของ Vogue การทำสื่อตอนนี้เราต้องตื่นตัวตลอดเวลา”

ศัตรูตัวร้ายคือการนอน

ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และผู้บริหาร GDH  กล่าวถึงการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต  ถือเป็น Digital disruption ที่ดึงผู้ชมให้หันไปหาความบันเทิงที่เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา แทนที่จะเสียเวลาเข้าโรงภาพยนตร์ ผนวกกับการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้โรงภาพยนตร์ประสบปัญหาในเรื่อง Social distancing เข้าไปอีก

160536434531

“การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต  ใน platform ต่างๆไม่ว่าจะเป็น streaming หรือ Netfix หรือของใครก็ตาม สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ Anytime Anywhere มันพร้อมที่จะดึงความสนใจไปตลอดเวลา Netfix เองถึงกับบอกว่าศัตรูของเขามีอย่างเดียว คือ การนอน

ค่อนข้างขัดแย้งกันมากกับการไปดูหนังในโรง ในฐานะคนทำหนังที่ฉายโรงเป็นหลัก เราจะรู้สึกว่าการไปโรงหนังเป็นประสบการณ์ มีพิธีกรรมมีพิธีการซึ่งเราค่อนข้างเคยชิน เป็นสิ่งที่เรามีข้อได้เปรียบคือการเข้าโรงหนังเราบังคับคนดูหนังอยู่ในความมืดแล้วก็มองไปที่จอหนังอย่างเดียวถ้าคุณทำอย่างอื่นถือว่าเสียมารยาท”

อย่างไรก็ดีโควิดทำให้คนทำหนังได้มองเห็นถึงมุมใหม่ๆในงานสร้างสรรค์ ช่วงโควิดคนทั้งโลกได้มีวันหยุดยาวๆ การชมภาพยนตร์ ซีรีส์ และความบันเทิงใน ช่องทางออนไลน์เป็นหนึ่งในกิจกรรมยอดนิยม การต่อยอดงานภาพยนตร์ด้วยการสร้างซีรีส์นำเสนอในช่องทางออนไลน์ก็เป็นวิถีใหม่ที่เราจะได้เห็นใน New Normal ในขณะที่คอนเทนต์ของหนังก็ต้องสร้างความเป็นสากลให้ผู้ชมรู้สึกว่ามีจุดร่วมได้มากขึ้นด้วย

ยุคของโอกาสที่แท้ทรู

การปรับตัวของสื่อในช่วงโควิด อาจจะไม่ใช่การปรับตัวใหญ่เพราะว่าสื่อปรับตัวมาโดยตลอดอยู่แล้ว

ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The Cloud

160536440030

“โควิดทำให้ปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ผมมองว่าหลังโควิด เป็นยุคแห่งโอกาสที่แท้จริง ทุกคนเริ่มต้นเท่ากันทุกคน คือถ้าใครมีความคิดที่เด็ดกว่าก็จะชนะในเกมนี้ เหมือนเป็นการล้างไพ่

ถัดมาคือ ช่วงการล็อกดาวน์ทุกคนต้องอยู่บ้าน มันสร้างปรากฏการณ์ จากเมื่อก่อนเราต้องออกไปดูหนังฟังเพลง การอยู่บ้านทำให้เราเริ่มสังเคราะห์ความสุขด้วยตัวเอง เช่น การปลูกต้นไม้ ช้อปปิ้งออนไลน์

โลกหลังโควิดทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ พฤติกรรมของคนเริ่มเปลี่ยนไปคนอยู่ในห้องจนเบื่อ ล่าสุดเราทำคอร์สออนไลน์สอนปลูกต้นไม้ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ก็อยู่ที่ว่าใครจะนำข้อมูลชุดนี้ไปเปลี่ยนเป็นรายได้ก่อนกัน”

 

วิถีใหม่ธงทองต้องของเยอะ

เขียนใหม่ ขายใหม่ ย้อนหลังยั้งอดีตไม่โดนใจคนรุ่นใหม่  ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม กล่าวว่าการใช้สื่อแบบดั้งเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป

160536446069

“ผมมีอาชีพการเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก เดิมเขียนลงมติชนสุดสัปดาห์ ที่เก๋มากคือเขียนลง Facebook เวลาจะพิมพ์หนังสือขายก็ขายกับทางสำนักพิมพ์เพราะไม่คิดจะขายเอง

ตอนอยู่กับบ้านในช่วงโควิด เวลาว่างหลังจากกินข้าวที่สั่งซื้อจากจุฬามาร์เก็ตเพลส สาธิตปทุมวันมาร์เก็ตเพลสบ้าง ผมนั่งเขียนหนังสือทุกวันๆละ 1 บท เขียนได้ 31 ตอน จะเอาไปขายสำนักพิมพ์อย่างที่เคยทำก็ไม่ได้ เกรงใจเพราะเขาก็คงลำบาก

ระหว่างท่องเที่ยวอยู่ใน Facebook  ไปเห็นนักบินคนไทยเขียนหนังสือชื่อ สวัสดีไนจีเรีย ขายใน Facebook ผมสั่งซื้อเขาก็ส่งมาให้เราสะดวกดี อย่ากระนั้นเลยเราพิมพ์เองดีกว่า

ทีแรกยังคิดแบบเดิม ตั้งชื่อหนังสือแนวเล่าความหลังยั้งอดีต  โทรถามลูกศิษย์ ว่าตั้งชื่อหนังสือชื่อนี้ดีไหม เขาบอกมาว่าตั้งชื่อแบบนี้ใครจะไปซื้อ แล้วตั้งให้ว่า ‘ธงทองของเยอะ

ผมถามว่าแล้วจะขายยังไง เขาบอกว่าขายบน  Facebook แล้วทำ  Google form ให้สำหรับสั่งซื้อ เชื่อหรือไม่ในเวลา 2 สัปดาห์ ผมขายหนังสือเล่มนี้โดยที่ยังพิมพ์ไม่เสร็จ 700 เล่ม จากที่ตั้งใจว่าจะพิมพ์ขาย 1,000 เล่ม”

โควิดพลิกมุมคิดให้อาจารย์ธงทองปล่อยของได้เยอะในเวลาอันรวดเร็ว

 โควิดเปลี่ยนโลก โควิดเปลี่ยนเรา ก้าวเข้าสู่ยุคปกติใหม่อย่างเข้าใจ ทางข้างหน้ายังมีสิ่งใหม่ให้เรียนรู้อีกมากและยากที่จะคาดเดา