MRT แจ้งเปิดให้บริการตามปกติ

 MRT แจ้งเปิดให้บริการตามปกติ

การจัดพิธีฯ เปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงขอแจ้งเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินตามปกติทุกสถานี ตั้งแต่เวลา 19.25 น. เป็นต้นไป และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) แจ้งปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ชั่วคราวในบางสถานี เพื่อประกอบพิธีเปิดโครงการรถไฟฟ้าสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ในวันที่ 14 พ.ย 2563 นั้น บัดนี้ การจัดพิธีฯ ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงขอแจ้งเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินตามปกติทุกสถานี ตั้งแต่เวลา 19.25 น. เป็นต้นไป และขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้

สำหรับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงินเดิม) ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ที่สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง และสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมีความต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation)ก่อสร้างโครงการในปี 2554 เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับผสมแบบใต้ดิน ระยะทางรวมประมาณ 28 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

• ช่วงหัวลำโพง – บางแค มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร รวม 11 สถานี ประกอบด้วย โครงสร้างทางวิ่งแบบใต้ดิน ลักษณะเป็นทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยว ในช่วงหัวลำโพง – ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับ ลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน ในช่วง ท่าพระ – บางแค ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจาก สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงินเดิม)ฯ เป็นเส้นทางใต้ดินลอดตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ผ่านวังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับเข้าสู่สี่แยก ท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามแนวถนนเพชรเกษม สิ้นสุดปลายทางที่ถนนกาญจนาภิเษก

• ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ มีระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร รวม 9 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งแบบยกระดับทั้งหมด ลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ ของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงินเดิม)ฯ ผ่านแยกเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “ฉลองรัชธรรม” (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย “เฉลิมรัชมงคล” (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย รฟม. ได้นำองค์ความรู้ทั้งด้านวิศวกรรมศาสตร์ และธรณีวิทยา รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล เข้ามาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้าง อาทิ การใช้เทคโนโลยีนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมาใช้ในการขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 เมตร อยู่ลึกจากระดับผิวน้ำ 30 เมตร (ลึกจากใต้ท้องแม่น้ำ 7 เมตร) และถือเป็นอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย