BOI-สกพอ.ผนึกดึงลงทุน EEC เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจ

BOI-สกพอ.ผนึกดึงลงทุน EEC เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจ

รัฐบาลกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หลังจากที่ผ่านมาพึ่งการส่งออกและการท่องเที่ยวสูง ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 จึงมีแผนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อดึงการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับประเทศ

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิจารณามาตรการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศเข้าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่อื่น โดยมั่นใจว่าหากเดินหน้าชักจูงการลงทุนจริงจังในบริษัทเป้าหมายจะลงทุนมากขึ้นในปี 2564

ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมที่จะเดินหน้าปฏิบัติการเชิงรุกทั้งบีโอไอและ สกพอ. โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะประมูลจบปี 2563 คือ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเร่งลงนามสัญญาร่วมลงทุนภายใน ธ.ค.นี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนว่าไทยเราพร้อมดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า สกพอ.จะหารือรองนายกรัฐมนตรีเพื่อผลักดันการลงทุนในอีอีซี ซึ่งจะปรับแผนการลงทุนอีอีซีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ปี (2563-2567) ให้สอดรับสถานการณ์โดยเฉพาะหลัง โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

โดยส่งผลบวกต่อการลงทุนและความร่วมมือการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไบเดนเน้นลดภาวะโลกร้อน จะดึงนักลงทุนจากสหรัฐได้มากขึ้น รวมถึงดึงลงทุนเทคโนโลยีใหม่ที่ไทยเร่งผลักดัน คือ 5G

160525995596

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.2563) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี 313 โครงการ มูลค่าลงทุน 109,430 ล้านบาท คิดเป็น 49% แม้จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากดูจากตัวเลขออกบัตรส่งเสริม 9 เดือน อยู่ที่ 309 โครงการเพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุนถือเป็นสัญญาณการลงทุนจริงที่เริ่มกลับมา

ส่วนกรณีประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ประเมินเบื้องต้นมีผลต่อการลงทุนไทย 3 ด้าน ได้แก่

1.การลงทุนของบริษัทสหรัฐในไทยไม่น่าได้รับผลกระทบนัก เพราะบริษัทสหรัฐลงทุนไทยไม่ถึง 5% ของการลงทุนต่างชาติทั้งหมด รวมทั้งโควิด-19 ทำให้สหรัฐเน้นส่งเสริมลงทุนในประเทศมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในและแก้ปัญหาว่างงงาน ทำให้บริษัทสหรัฐลงทุนต่างประเทศน้อยลง มีเพียงบริษัทที่มีตลาดในเอเชียที่ลงทุนเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางธุรกิจ

“บริษัทจากต่างชาติที่มาลงทุนในไทยมาจากเอเชีย 80% ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย โดย 10 ปีที่ผ่านมาสหรัฐลงทุนไทยไม่ถึง 5%”

2.สงครามการค้ายังมีต่อแต่ประนีประนอมขึ้น ซึ่งเชื่อว่าบริษัทข้ามชาติในจีนยังมีการย้ายฐานหรือการกระจายการลงทุนมาอาเซียนเพื่อลดความเสี่ยง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าปี 2561 ถึงเดือน ก.ย.2563 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อย้ายฐานมาไทย 190 โครงการ มูลค่าลงทุน 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และยางล้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมเบา เช่น เฟอร์นิเจอร์ และกระเป๋าเดินทาง

3.สหรัฐให้ความสำคัญกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และถ้าไทยยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในขณะที่คู่แข่งในอาเซียนเป็นสมาชิกแล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติ

อัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนของญี่ปุ่นในปี 2564 ยังประเมิณได้ยาก แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย

โดยที่ผ่านมามีบริษัทญี่ปุ่นหลายรายชะลอลงทุน และคาดหวังว่าปี 2564 จะกลับมาเดินหน้าลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะไทยที่ควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดี ต่างจากอีกหลายประเทศทำให้ไทยเป็นประเทศน่าสนใจ ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 ในโลกดีขึ้นจะเป็นโอกาสดีของไทยแน่นอน

ส่วนด้านความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในปี 2564 จะลงนามความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจหลาย เช่น ยกระดับเครื่องจักรในโรงงาน โครงการพัฒนาหุ่นยนต์ การยกระดับอุตสาหกรรมภาคการผลิต