การจัดหาสีเขียวของไฮเปอร์มาร์เก็ต

การจัดหาสีเขียวของไฮเปอร์มาร์เก็ต

ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นลักษณะของ 'ร้านขายของชำ' หรือ 'ร้านโชห่วย' ขณะที่ 'ไฮเปอร์มาร์เก็ต' คือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่เน้นการขายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัด !

ในอดีต ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นลักษณะของ 'ร้านขายของชำ' หรือ 'ร้านโชห่วย' ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่จัดหาสินค้าจากผู้ค้าส่งมาจำหน่าย แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ลดการพึ่งพาผู้ค้าส่ง มีการจัดการโลจิสติกส์และระบบการกระจายสินค้าที่ทันสมัย โดยสามารถจำแนกร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ออกเป็นรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น ห้างสรรพสินค้า ช็อปปิ้งมอลล์/ศูนย์การค้า ดิสเคาน์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

ไฮเปอร์มาร์เก็ต คือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่เน้นการขายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัด โดยจับกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางลงมา เมื่อพิจารณาโซ่อุปทานของไฮเปอร์มาร์เก็ตจะพบว่า ซัพพลายเออร์ของไฮเปอร์มาร์เก็ตคือ ผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันกันเองค่อนข้างสูง ไฮเปอร์มาร์เก็ตจึงมีบทบาทสำคัญในโซ่อุปทานของธุรกิจค้าปลีก จากการเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าของซัพพลายเออร์ให้สามารถกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งยังสามารถใช้ศักยภาพจากการเป็นผู้นำในโซ่อุปทานเพื่อยกระดับความยั่งยืนของธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะการสนับสนุนซัพพลายเออร์ในการสร้างมาตรฐานโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ลูกค้าของไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งก็คือ ผู้บริโภค มีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจากมี Switching Cost ต่ำ จึงเป็นผู้กำหนดความต้องการด้านประเภทและราคาสินค้า รวมถึงสร้างแรงกดดันด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์

จากการที่ผู้บริโภคทั่วโลกกำลังตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ไฮเปอร์มาร์เก็ต ก็หนีไม่พ้นกระแสดังกล่าว โดยใช้นโยบายด้าน 'การจัดหาสีเขียว' (Green Procurement) เพื่อสร้างความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดย Walmart ได้เริ่มรณรงค์ตั้งแต่ปี 1989 ด้วยการส่งเสริมให้ซัพพลายเออร์เสนอสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือย่อยสลายได้ โดยเมื่อใดที่ซัพพลายเออร์ได้แจ้งว่าสินค้าของตนเองมีการปรับปรุงด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Walmart จะช่วยทำการส่งเสริมการขายสินค้าเหล่านั้นด้วยการติดฉลากที่บ่งบอกว่าเป็นสินค้าสีเขียว

ในขณะที่ Amazon ก็ตั้งเป้าที่จะให้ซัพพลายเออร์สินค้าทุกชนิดที่ขายในร้านค้าของ Amazon ปฏิบัติตาม Code of Conduct โดยมีเงื่อนไขว่าซัพพลายเออร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้อย่างเคร่งครัด ซัพพลายเออร์ต้องมองหาโอกาสที่จะก้าวไปไกลกว่าภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อไปสู่การบูรณาการแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนตลอดการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนให้ซัพพลายเออร์มองหาวิธีที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การประหยัดพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของเสีย มลพิษ วัตถุอันตราย และการรีไซเคิล ตลอดการดำเนินงานทั้งหมด

หรือกรณี เทสโก้ โลตัส ของไทย ที่ก็มีการประกาศนโยบายด้านความยั่งยืน 'The Little Helps Plan' ที่ดูแลเอาใจใส่กับพนักงาน ผลิตภัณฑ์ และชุมชน โดยได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในปี 2561 ด้วยการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซึ่งเน้นไปที่องค์ประกอบหลัก 4 ส่วน ได้แก่ ความสามารถในการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ การจัดหาและขายสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น การพัฒนาระบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลได้ และการลดการสูญเสียในส่วนของอาหาร นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ยังช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่รับซื้อจากเกษตรกรโดยตรงให้เป็นสินค้าปลอดภัยได้มาตรฐาน GAP การใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี และการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาของสินค้า

การประยุกต์ใช้แนวคิดการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกภาคส่วนตลอดโซ่อุปทานนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้แก่โลกแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้ปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านกระบวนการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของตนเอง กอปรกับค่านิยมใหม่ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการจัดการสีเขียว ยังเป็นตัวกระตุ้นให้การจัดการโซ่อุปทานที่ยั่งยืนเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือโซ่อุปทานของคู่แข่งอีกด้วย