'วิกฤติเศรษฐกิจ' ยังเป็นโจทย์ใหญ่ รัฐต้องเร่งแก้-ฟื้นเชื่อมั่น

'วิกฤติเศรษฐกิจ' ยังเป็นโจทย์ใหญ่ รัฐต้องเร่งแก้-ฟื้นเชื่อมั่น

"วิกฤติเศรษฐกิจ" ยังเป็นโจทย์ใหญ่ ล่าสุดผู้ว่าการ ธปท.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบราว 8% โควิด-19 สร้างรอยบอบช้ำต่อภาคการท่องเที่ยว ซ้ำเติมด้วยหนี้ครัวเรือนและยอดคนตกงานสูงขึ้น นับเป็นเรื่องที่รัฐต้องเร่งแห้ปัญหา ฟื้นความเชื่อมั่นให้ฟื้นคืนกลับมา

แม้วันสองวันนี้จะมีข่าวดีของวัคซีนแก้โควิด ทำให้ทุกภาคส่วนมีความตื่นตัว โดยเฉพาะในตลาดหุ้นที่มีความคึกคักต้อนรับข่าวดีของโลกอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้มาถึงเร็วดั่งใจนึก เพราะยังต้องมีกระบวนการต่างๆ อีกมาก ต้องยอมรับว่า ปีนี้โลกบอบช้ำหนักมากจากสถานการณ์โรคระบาด เศรษฐกิจทรุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ธุรกิจปิดตัว คนตกงาน หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น แต่ละประเทศต่างพยายามเร่งเยียวยาเศรษฐกิจในประเทศตัวเองให้ฟื้นคืนกลับมาให้ได้เร็วที่สุด ประเทศไทยเอง เผชิญกับหลายวิกฤติที่ไม่ได้มีแค่โควิด แต่ต้องเจอกับปัญหาการเมืองที่ไม่แน่นอน ยิ่งลดทอนความเชื่อมั่นของการลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก การจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในห้วงเวลา และสถานการณ์เยี่ยงนี้ จึงเป็นโจทย์ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย

ล่าสุดที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 8% และผลกระทบจากโควิดขณะนี้ หากเทียบกับวิกฤติในอดีตก็ต่างกันมาก เพราะครั้งนี้กระทบตรงกล่องดวงใจ คือ ภาคท่องเที่ยวที่มีการจ้างงานถึง 20% แถมซ้ำด้วยหนี้ครัวเรือนที่สูงก่อนโควิด วันนี้สูงไปอีกที่ 84% จาก 80% ก่อนหน้า ที่สำคัญผู้ว่าแบงก์ชาติประเมินว่า ยอดตกงานที่ก่อนหน้านี้ ประเมินกันที่ 7-8 แสนคน แต่ยังมีอีกมากที่ไม่สะท้อนข้อมูลที่แท้จริง เพราะมีคนที่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อีกจำนวนมาก หากรวมจำนวนนี้เข้าไป 2 ล้านคน 2 กลุ่มนี้ แรงงานได้รับผลกระทบถึง 3 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ภายใต้ภาระหนี้สินที่มากมาย 

เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ที่รัฐต้องเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ถือเป็นเครื่องยนต์หลักทำรายได้ให้ประเทศ ต้องเร่งหาทางเยียวยา พลิกฟื้น สร้างความเชื่อมั่นให้ฟื้นคืนกลับมาให้ได้อย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันรัฐเองควรต้องมองหาจุดแข็งของประเทศอย่างอื่นด้วย เพื่อเป็นเครื่องยนต์สำรองสร้างรายได้ให้ประเทศในวันที่เครื่องยนต์หลักดับ เป็นอีกโจทย์สำคัญที่รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ

มาตรการของภาครัฐในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลายๆ มาตรการอย่าง มาตรการคนละครึ่ง ที่รัฐบาลเตรียมผลักดันต่อในปีหน้า ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งในมาตรการที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบได้ รวมถึงมาตรการอย่าง ชิมช้อปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน ที่เป็นความพยายามของรัฐในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้บ้าง แม้ยังไม่ที่สุดแต่ก็ต้องพยายามกันต่อไป  

เราเห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามอัดฉีดเข้ามาเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ควรต้องมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเช็คผลลัพธ์ในทุกมิติ ที่จะส่งผลในด้านต่างๆ กับเศรษฐกิจ เจาะลึกให้เห็นถึงผลดี ผลเสีย เพื่อปรับปรุง แก้ไขในครั้งถัดไป เพราะทุกมาตรการที่รัฐใส่ไปในระบบเศรษฐกิจ ควรต้องเกิดผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจประเทศโดยภาพรวม