จาก ‘ระยอง’ ถึง ‘นครศรีฯ' ‘ธนาธร’ กับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ

จาก ‘ระยอง’ ถึง ‘นครศรีฯ'  ‘ธนาธร’ กับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ

จากที่กติกาเลือกตั้งท้องถิ่นจะเข้าทาง 'คณะก้าวหน้า' แต่เมื่อลงสนามจริงเริ่มปรากฎว่าทฤษฎีกับปฏิบัติแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ภายหลัง 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' เจอกับกระแสต่อต้าน

การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นในภาพรวมปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรยากาศไม่คึกคักมากสมกับการรอคอยเท่าใดนัก โดยเหตุผลสำคัญมาจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดกติกาค่อนข้างหยุ่มหยิมจนผู้สมัครกระดิกตัวยากพอสมควร เช่น มาตรา 34 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นปี 2562 ซึ่งกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามาช่วยหาเสียง

"ในกรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมิชอบด้วยหน้าที่และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติหรือระงับการกระทำนั้นได้" เนื้อหากฎเหล็กมาตรา 34

เพียงแค่มาตรานี้มาตราเดียวทำให้แม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหม่ถึงกับประกาศไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา จนนำมาสู่การฟ้องร้องกันในระยะยาวที่อาจมีปัญหาไปถึงคณะกรรมการการบริหารพรรคที่มี 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค จึงมีแต่การสนับสนุนเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น

ด้วยกติกาดังกล่าวทำให้เหมือนจะเข้าทาง 'คณะก้าวหน้า' เพราะนอกจากจะไม่ได้มีสถานะเป็นพรรคการเมืองแล้วยังไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย จึงได้เห็นภาพของ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ประธานคณะก้าวหน้า 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เลขาธิการคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่หาเสียงอย่างเต็มที่ แม้จะเริ่มมีเรื่องให้ระคายเคืองบ้าง ภายหลังมีคนไปร้องว่า 'ธนาธร-ปิยบุตร' ในฐานะผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองกำลังทำให้คณะก้าวหน้ามีสถานะเสมือนเป็นพรรคการเมือง แต่คดีกว่าจะตัดสินออกมาย่อมใช้เวลาอีกนานสมควร

อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่คณะก้าวหน้าเคยคิดว่ากติกาเลือกตั้งท้องถิ่นเข้าทางตัวเอง แต่เมื่อลงสนามจริงเริ่มปรากฎเห็นว่าทฤษฎีกับปฏิบัติแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเริ่มเจอกับกระแสต่อต้าน 'ธนาธร' ชัดเจน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการชุมนุมของม็อบคณะราษฎร จนเกิดภาพของคนเสื้อเหลืองบุกมาถามถึงท่าทีทางการเมืองที่จังหวัดระยองระหว่างหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น และ การล้อมรถยนตร์ที่นครศรีธรรมราชระหว่างการช่วยผู้สมัครหาเสียง

ในกรณีของจังหวัดนครศรีธรรมราช แม้รถคันที่ถูกล้อมนั้นจะไม่มี ‘ธนาธร’ นั่งอยู่ข้างในและไม่เกี่ยวข้องอะไรกับคณะก้าวหน้า แต่ภาพที่ออกมาเป็นสัญญาณเตือน 'ธนาธร' ให้ระวังกับสถานการณ์ที่จะต้องเผชิญในอนาคต วันนี้อาจโชคดีที่ไม่อยู่ในรถคันนั้นแต่วันข้างหน้าอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

สถานการณ์ของ 'ธนาธร' กำลังเข้าใกล้กับเหตุการณ์ที่ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' อดีตนายกรัฐมนตรี เคยเผชิญมาก่อน

ย้อนเวลากลับไปกว่า 10ปีที่ผ่านมาเมื่อปี 2552 ผลจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงทำให้เกิดการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง นำมาสู่เหตุการณ์ล้อมรถนายกฯในเวลานั้นที่กระทรวงมหาดไทย จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลายเป็นการจุดกระแสหรือเรียกว่าพฤติกรรมเลียนแบบจนเกิดเป็นกระแสไปทั่วประเทศ ช่วงหนึ่งทุกครั้งที่ 'อภิสิทธิ์' เดินทางไปปฏิบัติราชการยังจังหวัดต่างๆ จะเจอกับม็อบเสื้อแดงไปต้อนรับอยู่เป็นระยะ กลายเป็นภาพที่เกิดความแตกแยกชัดเจน

'ธนาธร' ก็เช่นเดียวกัน ต้องยอมรับว่าปรากฎการณ์เสื้อเหลืองที่เกิดขึ้นมาจากแรงขับดันจากกลุ่มคณะราษฎรด้วย ยิ่งม็อบสามนิ้วแตะต้องสถาบันมากเท่าไหร กระแสเสื้อเหลืองก็ยิ่งจะขยายตัวมากขึ้นเท่านั้น

แน่นอนว่าถนนสีเหลืองส่วนหนึ่งย่อมต้องพุ่งไปที่ 'ธนาธร' อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้