ตร.ชุมชน ร่วมลดปัจจัยเสี่ยง สานพลังชุมชน

ตร.ชุมชน ร่วมลดปัจจัยเสี่ยง สานพลังชุมชน

เครือข่ายตำรวจชุมชนร่วมลดปัจจัยเสี่ยง สานพลังชุมชน หนุนการทำงานเชิงพื้นที่ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง

“ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ”แนวคิดและหลักการทำงานของตำรวจผู้รับใช้ชุมชน จุดประกายให้เกิด “เครือข่ายตำรวจชุมชนร่วมลดปัจจัยเสี่ยง” ที่ตำรวจไม่เพียงทำหน้าที่เป็นสายตรวจระงับเหตุด่วนเหตุร้าย และสืบสวนผู้กระทำความผิดเท่านั้น  แต่ตำรวจทุกนายยังมีหน้าที่สำคัญในการเป็นหุ้นส่วนของชุมชน ที่ต้องตรวจตรา ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชน รวมทั้งเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดีให้กับชุมชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธร ภาค 5 ได้หนุนเสริมเครือข่ายตำรวจชุมชนร่วมลดปัจจัยเสี่ยง ด้วยการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพให้กับนักเรียนนายสิบตำรวจ

160517130065

ภายใต้ “โครงการพัฒนาสมรรถนะ และเสริมศักยภาพนักเรียนนายสิบตำรวจสู่เครือข่ายตำรวจชุมชนร่วมลดปัจจัยเสี่ยง” ในประเด็นของภัยพิบัติ และการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาอุบัติเหตุ และความรุนแรงทางสังคม โดยนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนภายใต้การดูแลของศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 คือ ลำปาง , น่าน , แพร่ , เชียงใหม่ , แม่ฮ่องสอน , ลำพูน เชียงราย และพะเยา 

โดยมุ่งหวังให้นักเรียนนายสิบตำรวจที่จบการศึกษาไปแล้ว เมื่อไปประจำการในพื้นที่หรือชุมชนของตนเอง ได้มีทัศนคติและมีบทบาทในการเป็นผู้เชื่อมประสานหรือให้ความรู้และช่วยเหลือชาวบ้านในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และอันตรายที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรู้เท่าทันความเสี่ยงเหล่านั้น

"นิด้าได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับ สสส. ว่าในศตวรรษที่ 21 เราจะดูแลสังคมของเราให้ปลอดภัยได้อย่างไร ในขณะที่ประชากรเพิ่มมากขึ้น และภัยทางสังคมมีความซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน เราพบว่าช่องว่างสำคัญ คือ การบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่จริงจังเท่าที่ควร การเสริมศักยภาพให้ตำรวจหรือเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมาย ได้มีความตระหนักถึงปัญหา และเข้าใจในกฎระเบียบเพื่อดูแลความสงบเรียร้อยของสังคม ทั้ง พรบ. เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ พรบ. ด้านสาธารณภัยต่าง ๆ จะสามารถนำไปช่วยเหลือและดูแลชุมชนให้ปราศจากภัยและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้ ” ผศ.ดร. เกศรา สุกเพชร หัวหน้าโครงการฯ กล่าว

160517132157

โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการป้อมปรามดำเนินการได้ เราได้รับความร่วมมือศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร เพื่ออบรมให้กับนักเรียนนายสิบตำรวจ เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหา และได้มีความรู้ในการจัดการภัยพิบัติและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมออกแบบเครื่องมือการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดให้กับชุมชม พร้อมลงพื้นที่ปฏิบัติติงานจริง เพื่อที่ในอนาคตจะเติบโตมาเป็นเครือข่ายตำรวจชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง

พ.ต.อ.ไพศาล นันตา รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 5 เราสร้างนักเรียนที่จบการศึกษาแล้วจะไปบรรจุเป็นนายสิบตำรวจที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน จึงเป็นกลไกสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรับใช้ประชาชนตามสถานีตำรวจต่าง ๆ  ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเราจะเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็น ภัยทางธรรมชาติ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือภัยที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น อุบัติเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการดื่มแล้วขับ ที่มีปัจจัยเสี่ยงคือสุรา ตำรวจเราก็จะเข้าไปแก้ไขปัญหาผ่อนหนักให้เป็นเบา

โครงการพัฒนาสมรรถนะและเสริมศักยภาพนักเรียนนายสิบตำรวจสู่เครือข่ายตำรวจชุมชนร่วมลดปัจจัยเสี่ยง” เป็นโมเดลการทำงานของภาคีเครือข่ายตำรวจที่มีหน้าที่โดยตรงด้านบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเน้นให้เกิดความตื่นตัวต่อปัญหาและลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักในการป้องกันแก้ไขปัญหา เสริมความรู้เรื่องการพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมายเพื่อตรวจตราและประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาทักษะการปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อให้ความช่วยเหลือชุมชนอย่างทันท่วงที ซึ่งจะมาร่วมทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมหรือทีมรณรงค์ในพื้นที่

นับเป็นการขับเคลื่อนชุมชนเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอย่างเป็นระบบและบูรณาการ โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการครั้งแรกในปี 2562 เน้นเรื่องการจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัยอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน  ต่อมาในปี 2563 เป็นเรื่องการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับเป็นการต่อยอดการสร้างศักยภาพให้นักเรียนนายสิบตำรวจในแต่ละรุ่น ได้นำความรู้และความสามารถที่ได้รับจากโครงการ ฯ ไปใช้งานจริงในการทำงาน

160517135457

นายอมรินทร์ ไชยยนตร์  นักเรียนนายสิบตำรวจ ที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ ในปีล่าสุด กล่าวว่าสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ทั้งเรื่องทักษะความเป็นผู้นำ การประเมินบุคคลจากลักษณะภายในไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้สามารถเข้าใจประชาชน เป็นมิตรกับชุมชน สามารถสื่อสารเพื่อบอกถึงข้อดีข้อเสียจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ชักชวนให้เข้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ดื่มแล้วขับได้  รู้เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ในการควบคุมการดื่ม ซึ่งในอนาคตเมื่อเป็นตำรวจ เราต้องออกไปทำงานกับชุมชน ก็จะนำความรู้นี้ไปช่วยทำให้ชุมชนดีขึ้น 

ในอนาคต “เครือข่ายตำรวจชุมชนร่วมลดปัจจัยเสี่ยง”  จะเป็นพลังสำคัญที่มีบทบาทในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงได้อย่างเคร่งครัด ทั้งประเด็นสุรา ยาสูบ การพนัน และภัยพิบัติ ร่วมทั้งทำงานร่วมกับแกนนำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ดูแลสุขภาพและลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ