เช็คความพร้อม'เวียดนาม'แหล่งผลิตสินค้าของโลก

เช็คความพร้อม'เวียดนาม'แหล่งผลิตสินค้าของโลก

เช็คความพร้อม'เวียดนาม'แหล่งผลิตสินค้าของโลก ขณะที่บริษัทชั้นนำจากซีกโลกตะวันตกแห่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศนี้กันอย่างคึกคักหวังลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานของจีนเพียงประเทศเดียว

เมื่อสามปีก่อน “แจ็ค โอ ซุลลิแวน”เดินทางมาเวียดนามเพื่อทำรถจักรยานไฟฟ้าแต่โรงงานของเขาไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนได้อย่างที่เขาต้องการ เขาจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดนอกกรอบเพื่อทำให้การผลิตชิ้นส่วนทันกับความต้องการใช้

นักธุรกิจชาวไอริชรายนี้เริ่มส่งพนักงานจากม็อดโม บริษัทส่งออกจักรยานที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 มาทำงานร่วมกับบรรดาซัพพลายเออร์ท้องถิ่น ทุกวันนี้ ผลผลิตชิ้นส่วนจากม็อดโมมีสัดส่วนประมาณ 50% ของชิ้นส่วนทั้งหมดจากเวียดนาม เป็นตัวเลขที่โอซุลลิแวนหวังว่าจะเพิ่มขึ้นอีกจนสามารถแทนที่ชิ้นส่วนที่ต้นทุนสูงกว่าจากจีนและไต้หวันได้

“ทุกวันนี้เรายังคงมุ่งมั่นทำต่อไป”โอซุลลิแวน กล่าว

ทุกวันนี้ เวียดนาม กำลังเป็นที่หมายปองของบรรดาผู้ประกอบการตะวันตกที่แห่แหนเข้ามาตั้งโรงงานผลิต ซึ่งแนวโน้มนี้เริ่มเกิดขึ้นหลังจากปี 2550 เมื่อโรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าระดับล่างเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้เวียดนาม มีความหวังว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าไฮเทคโนโลยี ในช่วงที่สหรัฐกดดันจีนให้ปรับระบบห่วงโซ่อุปทานเสียใหม่ให้สนับสนุนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและโทรคมนาคม

แค่ซัมซุง บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของเกาหลีใต้เพียงบริษัทเดียวก็มียอดการส่งออกสินค้าประมาณ 1 ใน4 ของยอดส่งออกโดยรวมของเวียดนาม ส่วนอินเทลก็เลือกตั้งโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่สุดของโลกในเวียดนาม

สำหรับผู้ประกอบการระดับโลกในอุตสาหกรรมต่างๆนั้น การพึ่งพาจีนมากเกินไปกลายเป็นเรื่องล่อแหลม โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐและจีนทำสงครามการค้ากันอยู่ ประกอบกับความปั่นป่วนของระบบห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19และปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การย้ายฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำโลกช่วยกระตุ้นการเติบโตแก่ภาคการผลิตด้านอุตสาหกรรมของเวียดนามอย่างมาก โดยในเดือนก.พ.ที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการล็อกดาวน์ประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนามขยายตัวมากถึงปีละ21%

ขณะที่การลงทุนในปีนี้จากยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เกาหลีใต้อย่างแอลจี และเทซา ผู้ผลิตแถบกาวสัญชาติเยอรมัน ช่วยให้เวียดนามอยู่ในเส้นทางที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในโลกในปีนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นแรงกดดันแก่หลายภาคส่วนของเวียดนาม ทั้งตลาดแรงงาน ซัพพลายเออร์และที่ดินว่างเปล่าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นการที่เวียดนาม หวังว่าจะโหนกระแสคลื่นการลงทุนเป็นตัวช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีความเสี่ยงอยู่มาก

ส่วนใหญ่การลงทุนใหม่ๆในเวียดนนามจะไปกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น การผลิตหูฟังให้บริษัทแอ๊ปเปิ้ล และการผลิตหน้าจอแอลซีดีให้บริษัทชาร์ป ซึ่งตรงกับเป้าหมายของเวียดนามในการยกระดับห่วงโซ่มูลค่าและเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้แรงงานที่มีทักษะความชำนาญสูงขึ้น แต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนโนว์-ฮาวที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น อย่างเช่นจักรยานของบริษัทม็อดโม ที่ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า หน้าจอทัชสกรีนและบลูทูธ โดยจำหน่ายที่ราคาคันละ 2,400 ดอลลาร์

เนวิโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทจัดหางานรายใหญ่สุดของเวียดนาม ระบุว่า 71% ของบริษัทเทคโนโลยีระบุว่ามีปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านไอที และถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ ผลสำรวจที่จัดทำเมื่อเดือนเม.ย.ยังระบุว่า เวียดนามกำลังมีปัญหาเรื่องต้นทุนเงินเดือนที่แพงมาก ปัญหาทางกฏหมายและความท้าทายอื่นๆ

“แรงงานมีทักษะความชำนาญในเวียดนามยังมีไม่พอกับความต้องการ”ธิน เหงียน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)บริษัทเซียน โซลูชันส์ บริษัทให้คำปรึกษาด้านซอฟต์แวร์ ให้ความเห็น

อีกความท้าทายคือการขาดแคลนซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น บีบบังคับให้เวียดนามต้องนำเข้าวัตถุดิบจากจีน ซึ่งเป็นการนำเข้าในปริมาณมากที่สุด ในรายงานการศึกษาเกี่ยวกับระบบห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นล่าสุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อเดือนมี.ค. บ่งชี้ว่า เวียดนามเพิ่มมูลค่าการผลิตโดยเฉลี่ย 55% ก่อนส่งออกสินค้านั้นๆไปยังประเทศต่างๆ ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอีก8ประเทศในอาเซียน

แต่เวียดนามก็พยายามเตรียมความพร้อมไว้รับมือคลื่นการลงทุนจากต่างชาติให้ได้มากที่สุด ซึ่งรวมถึงการเปิดนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีกอย่างน้อย 17 แห่งในระยะ2-3 ปีข้างหน้า รวมทั้งฝึกอบรมพนักงานและให้ความรู้บรรดาซัพพลายเออร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง