หนังเล่าโลก: The Price of Democracy‘ประชาธิปไตยราคาแพง’

หนังเล่าโลก: The Price of Democracy‘ประชาธิปไตยราคาแพง’

หนังเล่าโลก: The Price of Democracy‘ประชาธิปไตยราคาแพง’

“พันธมิตรชานม” (Milk Tea Alliance) เป็นชื่อที่รับรู้กันในวงกว้าง หมายถึงกลุ่มคนที่สนใจการเมืองในไทย ฮ่องกง และไต้หวัน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นประสานงานกันในโลกออนไลน์ ช่วงที่ไทยเกิดการประท้วงบ่อยครั้งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศก็มักอ้างถึงคำนี้ ดังนั้นเมื่อมีการจัดเทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวันขึ้นจึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เรียนรู้เพื่อนมิตร เริ่มต้นจาก The Price of Democracy ที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ในไทยเป็นที่สุด

The Price of Democracy ผลงานเมื่อปี 2562 ของเลี่ยว เจียนหัว (Liao Jian-hua) บอกเล่าเรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อสังคมไต้หวัน 2 คน คือเจิ้ง ชินอี๋ อดีตนักเขียนแนวเพื่อชีวิิตที่พลิกผันมาเป็นนักกิจกรรมการเมือง กับ คัง เว่ยจาง ผู้หลงใหลการเมืองมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ทั้งสองคนมีอะไรหลายอย่างคล้ายกันมาก ความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นผลักดันให้คนทั้งสองออกมาเคลื่อนไหว รวมไปถึงการลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จกันทั้งคู่

เจิ้ง นักเขียนสาวสวยเมื่อวันวาน เขียนผลงานอันดุดันวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ขณะที่สามีและญาติๆ เป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง ยิ่งนานวันการเมืองยิ่งเข้มข้นในจิตใจเจิ้ง และเมื่ออุดมการณ์ไปด้วยกันไม่ได้ก็ต้องหย่าร้าง ครอบครัวฝ่ายสามีเกรงภัยจะมาถึงตัวจึงอพยพไปอยู่สหรัฐ ที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับเจิ้งในฐานะแม่คือ แม่สามีไม่อนุญาตให้ลูกทั้งสองคนติดต่อกับเธอ เพราะเกรงว่าจะติดแนวคิดรุนแรงจากแม่

ส่วนคัง สมัยหนุ่มๆ เป็นนักปราศรัยฝีปากดี มากด้วยอารมณ์ขัน มีประท้วงที่ไหนต้องไปที่นั่นไปมันทุกเวที ด้วยวิถีแบบนี้ทำให้ไม่อาจใช้ชีวิตกับภรรยาที่ไม่เข้าใจการเมืองได้ คังเองก็เชื่อว่า การใช้ชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมคือเรื่องส่วนรวมที่เขาต้องทุ่มเท วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะคังคนเดียว เพื่อนๆ ที่ร่วมเคลื่อนไหวมาด้วยกัน เมื่อมารวมตัวในงานสังสรรค์ประจำปี ล้วนโอดครวญเรื่องความแปลกแยกกับครอบครัว ลูกๆ ไม่ยอมคุยด้วย แต่พวกเขารู้ดีว่า นั่นคือสิ่งที่ต้องเจอผลจากการทิ้งครอบครัวไปเคลื่อนไหว

การต่อสู้ของเจิ้งและคังเริ่มตั้งแต่ทั้งคู่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว ช่วงเวลาที่มนุษย์เปี่ยมไปด้วยความหวังและความฝัน ซึ่งการเมืองไต้หวันในเวลานั้นต้องลงถนนเรียกร้องในทุกประเด็น 40 ปีผ่านไประบบประชาธิปไตยไต้หวันมีเสถียรภาพ ประชาชนไม่จำเป็นต้องลงถนนเข้มข้นเหมือนก่อน

ประชาธิปไตยไต้หวันสะท้อนออกมาในรูปของการเลือกตั้งผู้นำที่สะท้อนเจตจำนงประชาชน “ไช่ อิงเหวิน” จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ผู้มีนโยบายแข็งกร้าวกับจีน เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกเมื่อปี 2559 และเพิ่งได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาอีกวาระเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ปีนี้ ท่ามกลางกระแสความกังวลของประชาชนที่มีต่อภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่

นอกจากนี้  เดือน ม.ค.ยังเป็นช่วงที่ไวรัสปริศนาได้เกิดขึ้นแล้วในเมืองอู่ฮั่นของจีน ไต้หวันที่เป็นเมืองหน้าด่านห่างจากแผ่นดินใหญ่เพียง 160 กิโลเมตรกลับควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเพราะมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของทั้งโลก ข้อมูลจากเว็บไซต์ worldometers วานนี้ (11 พ.ย.) ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 580 คน เสียชีวิต 7 คน ข้อมูลไม่เปลี่ยนแปลงมานานแล้ว

แน่นอนว่าระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพไม่ได้สร้างจากนักการเมืองฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว แต่เป็นผลพวงจากคนเล็กคนน้อยที่เคลื่อนไหวบนท้องถนนมาหลายสิบปี รวมถึงคนระดับแกนนำอย่างเจิ้งและคังที่ไม่ประสบความสำเร็จในเวทีการเมือง วันนี้พวกเขาในวัยกลางคนอ่อนแรงลงไปมาก แต่ทุกครั้งที่มีการประท้วงทั้งคู่ไม่เคยละทิ้งการชุมนุม ยังคงเข้าไปเติมไฟฝันเหมือนเคยทำในวัยหนุ่มสาว ด้วยแววตาของคนเข้าใจโลกที่ว่า "ประชาธิปไตยนั้นมีราคา และราคาแพงเสียด้วย"