ตีความอำนาจรัฐสภา “ใบสั่ง”สกัดแก้รัฐธรรมนูญ

ตีความอำนาจรัฐสภา “ใบสั่ง”สกัดแก้รัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตอนแรกดูเหมือนว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เวลานี้กลับเต็มไปด้วยขวากหนาม เมื่อส.ว.และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทำให้งานนี้กลายเป็นหนังชีวิตที่อาจไม่มีที่สิ้นสุด

การเมืองในรัฐสภาเริ่มกลับมาเดือดอีกครั้ง ภายหลังปรากฎภาพการรวมกันเฉพาะกิจระหว่างส.ว.และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นำโดย ‘สมชาย แสวงการ’ ส.ว. และ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ฉบับ ทั้งของวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และ ไอลอว์

การยื่นศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือว่ามีการพลิกแพลงและตีลังกากันพอสมควร เนื่องจากเป็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ทั้งๆ ที่แนวปฏิบัติที่ผ่านมานั้น การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะเกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการของรัฐสภาแล้ว ประกอบกับ แม้แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (9) ยังกำหนดให้ส.ส.และส.ว.เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เฉพาะกรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น

ทว่า ‘สมชาย-ไพบูลย์’ กลับอาศัยการตีความตัวอักษรด้วยการอ้างมาตรา 210 (2)ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และดำเนินการยื่นญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาลงมติว่า รัฐสภาจะเห็นชอบกับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แทนที่จะเป็นการเข้าชื่อและยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญโดยผ่านประธานรัฐสภาเหมือนแนวปฏิบัติที่ผ่านมา หรือตามมาตรา 256 (9)

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการพยายาม ‘เตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ โดยเอา ส.ว.มาอ้าง

ย้อนอดีตกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นานจะพบว่า ‘สมชาย-ไพบูลย์’ ต่างเป็นคนกันเองที่มักถูกโยงว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยทั้งสองคนเคยเป็น ส.ว.ด้วยกันมาก่อน ซึ่งได้เคยแสดงผลงานมาแล้ว เมื่อครั้งร่วมกันเป็นฝ่ายค้านในวุฒิสภาเพื่อต่อต้านรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’
‘สมชาย’ มีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นมือประสานสิบทิศมาหลายสมัย ตั้งแต่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในยุค คสช.จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาเป็น ส.ว. 

ส่วน ‘ไพบูลย์’ ไม่ได้เพิ่งจะมามีฉายา ‘ซามูไรกฎหมาย’ ในช่วงเวลานี้เท่านั้น แต่ฉายานี้ได้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยจน ‘ยิ่งลักษณ์’ ตกเก้าอี้มาแล้ว รวมทั้งยังมีบทบาทในฐานะการเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในชุดที่มี ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ เป็นประธานอีกด้วย

ดังนั้น ภาพการแถลงข่าวของทั้งสองคนที่เกิดขึ้นที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563 จึงทำให้ภาพอดีตของทั้งสองคนปรากฎขึ้นชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การพยายามให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตา 210 (2) ของ ส.ว.และพรรคพลังประชารัฐ มีเป้าประสงค์ที่ต้องการกัน ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานรัฐสภา ให้ออกจากทางด้วย เนื่องจากการใช้มาตรา 210 (2) ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยถ้ารัฐสภาเกิดมีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับมาตรา 210 (2) ขึ้นมา เท่ากับว่าประธานรัฐสภาทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเท่านั้น

ส.ว.และพรรคพลังประชารัฐ ต่างทราบดีว่า ‘ชวน’ และพรรคร่วมรัฐบาลสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมาประธานรัฐสภาก็พยายามจะเร่งให้เกิดการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยไม่ได้สนใจเรื่องการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนรัฐสภาพิจารณาเสร็จ เพราะเห็นว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะกระทำได้เฉพาะเมื่อรัฐสภาพิจารณาร่างกฎหมายเสร็จแล้วเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทั้ง ส.ว.และส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แสดงอาการปีนเกลียวประธานสภา เพราะหากไม่ดึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้เสร็จเร็วกว่าที่คิดและจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกจากตำแหน่งมากขึ้น 

ที่สำคัญ ส.ส.และส.ว.กลุ่มนี้ เชื่อว่าหากเรื่องนี้ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญได้จริง ก็อาจจะมีลุ้นพอสมควร เนื่องจากเป็นกรณีที่ยังไม่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน มีแต่เพียงการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯเท่านั้น

จากเหตุผลทั้งหมด จึงไม่แปลกที่จะเกิดการรวมกันเฉพาะกิจ และรายชื่อของ ส.ว.และ ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อล้วนแต่เป็นเครือข่ายที่ได้ดีและเป็นใหญ่เพราะนายใหญ่  ผู้ที่มักจะบอก “ไม่รู้” ต่อหน้าสื่อมวลชน แทบทั้งสิ้น เช่น ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เลขาวิปรัฐบาล พรรณสิริ กุลนาถสิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ

เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่ไปพลิกประวัติ ก็จะพบว่าล้วนแต่เคยมีตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สายมาก่อนหลายคน เช่น กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กิตติ วะสีนนท์ สองอดีตสมาชิกสนช. สังศิต พิริยะรังสรรค์ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สองอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พล.อ.บุญธรรม โอริส อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปรองดอง

เห็นแบบนี้แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่จะถูกสกัดทุกช่องทางแล้วยังเป็นหนังชีวิตที่ลากยาวกันแบบไม่รู้จบอย่างแน่นอน

160506522097