‘เฟรซเก็ต’ จุดนัดพบ ผู้ผลิตสินค้าสดกับร้านอาหาร

‘เฟรซเก็ต’ จุดนัดพบ ผู้ผลิตสินค้าสดกับร้านอาหาร

“เฟรซเก็ต” (Freshket)แพลตฟอร์มตลาดสดออนไลน์สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ทำหน้าที่ตัวกลางจัดหาวัตถุดิบคุณภาพดีในราคาที่สมเหตุสมผลให้กับร้านอาหารทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการระบบซัพพลายเชนด้านสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง เฟรซเก็ต ได้ผันตัวจากเอสเอ็มอีสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่ถูกจับตาอย่างเช่นทุกวันนี้ กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เคยทำนั้นเกี่ยวกับฟู้ดเซอร์วิส โดยนำวัตถุดิบของสดในตลาดไทมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการทำความสะอาด ตัดแต่งและจัดชุดใหม่ เพื่อส่งต่อให้ร้านอาหาร พบมี 2 ปัญหาหลักในห่วงโซ่ธุรกิจนี้ คือ ผู้ซื้อกับผู้ขายหากันไม่เจอ (Market Fragmentation) และระบบปฏิบัติงานระหว่างผู้ซื้อผู้ขายไม่มีประสิทธิภาพ การขนส่งล่าช้า

160502584530

เธอขบคิดวิธีแก้ปัญหาและพบสิ่งที่ตอบโจทย์คือ “เทคโนโลยี” เพื่อช่วยบริหารจัดการวิธีการทำงานแบบเดิมระหว่างซัพพลายเออร์กับร้านอาหารให้สามารถสเกลอัพขึ้น ประกอบกับมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีช่องทางไปต่อได้อีกมาก เพราะตลาดกลุ่มร้านอาหารและโรงแรมในไทยมากกว่า 2 แสนร้าน มีมูลค่าการซื้อต่อปีกว่า 7.7 พันล้านดอลลาร์

แพลตฟอร์มห่วงโซ่อาหาร

เฟรซเก็ตถือกำเนิดขึ้นในปี 2560 ด้วยธุรกิจรูปแบบมาร์เก็ตเพลส คือเป็นแพลตฟอร์มตลาดวัตถุดิบของสด มีสินค้ากว่า 22 หมวดหมู่ 4 พันรายการ รวมอาหารสดเชื่อมโยงซัพพลายเออร์ที่เป็นฝั่งผู้ผลิต (เกษตรกร) กับผู้ซื้อ (กลุ่มร้านอาหาร) โดยมีแวร์เฮาส์รวบรวมสินค้าจากเกษตรกรมาทำการจัดชุด จากนั้นมีโลจิสติกส์ส่งตรงไปถึงร้านอาหาร

จึงถือเป็นแพลตฟอร์ม food supply chain ผ่านการเชื่อมระบบการทำงานระหว่างสองฝ่ายเข้าหากัน ก่อให้เกิดการซื้อขายที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถสั่งวัตถุดิบได้ 3 ช่องทางคือ โมบายแอพ เว็บไซต์และอีเมล

ส่วนความยากในการเริ่มต้นธุรกิจ คือ “ทีมงาน” เนื่องด้วยเธออยู่ในสายธุรกิจ แต่ต้องการสายเทคโนโลยีมาช่วยสร้างแพลตฟอร์ม จึงต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในวงการเทคสตาร์ทอัพแล้วค่อยๆ นำเสนอไอเดียกระทั่งได้มาซึ่งทีมงานที่มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันมีร้านอาหารที่ใช้บริการเกือบ 4 พันราย การสั่งซื้อกว่า 1.5 แสนออเดอร์ โดยจะเป็นในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ จากร้านอาหารในกรุงเทพฯ ทั้งหมดมีประมาณ 7.5 หมื่นราย ดังนั้น โอกาสทางธุรกิจในพื้นที่หัวเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ จึงมีอีกมาก สิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อไป คือโฟกัสและขยายธุรกิจเพื่อที่จะให้ครอบคลุมตลาดกรุงเทพฯ จากนั้นจะกระจายสู่หัวเมืองต่างๆ ในต่างจังหวัด

160502594425

เธอพบความท้าทายในการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับของสดว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อุปสรรคคือเรื่องของการทำโอเปอเรชั่นที่ต้องเยอะขึ้น แค่เรื่องคลังสินค้าอย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว ร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นทุกวัน คลังสินค้าแม้จะขยายแล้วก็เต็มอีก โลจิสติกส์ที่จะเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับเราก็ต้องเข้าใจในโมเดลธุรกิจของเราด้วย การขนส่งของสดย่อมต้องแตกต่างจากสินค้าทั่วๆ ไปอยู่แล้ว เพราะต้องมีเรื่องของอุณหภูมิเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วของสดแต่ละชนิดอย่าง ผัก หรือเนื้อสัตว์ การจัดเก็บก็ต้องแตกต่างกัน

“การบริหารความสดคือ เฟรซเก็ตจะไม่สต็อกของสด สินค้าทุกชิ้นผ่านโรงคัดตัดแต่งและส่งเข้าคลังภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมกับช่วงเช้าจะส่งสินค้าออกทันที ดังนั้น เรื่องของการบริหารความสดจะอยู่ในกระบวนการของสินค้าอยู่แล้ว”

ปรับแถวสู้ศึกโควิด

เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เฟรซเก็ตได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยยอดขายลดทันที 60% แต่เพื่อให้บริษัทดำเนินต่อไปได้ และไม่เป็นการทอดทิ้งซัพพลายเออร์และร้านอาหาร จึงพลิกโมเดลธุรกิจจาก B2B สู่ B2C คือการรับวัตถุดิบจากร้านอาหารกลับเข้ามาในระบบเพื่อส่งถึงผู้บริโภคทั่วไป (B2C) โดยเปิดบริการตั้งแต่เดือน มี.ค.-ปัจจุบัน แต่เมื่อการแพร่ระบาดของโควิดเริ่มทุเลาลง จึงหันกลับมาโฟกัสที่ B2B ดังเดิม โดยแบ่งสัดส่วนธุรกิจออกเป็น 80% สำหรับกลุ่มร้านอาหาร อีกประมาณ 15-20% สำหรับบุคคลทั่วไป

160502643287

“ประสบการณ์จากโควิดทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก เพราะการเปลี่ยนจาก B2B เป็น B2C ไม่ง่าย แต่เมื่อดำเนินการไปสักระยะ พบว่า ผู้บริโภคให้ผลตอบรับดีเกินคาด มีออเดอร์เพิ่มถึง 3 เท่า ส่งผลให้วัตถุดิบไม่เพียงพอ ทำให้เฟรซเก็ตเรียนรู้ในเรื่องของการดำเนินการได้เป็นอย่างดี ว่าการดำเนินงานควรเป็นลักษณะไหน ดังนั้น สิ่งที่ต้องบริหารจัดการมี 2 อย่างคือ 1.บริหารจัดการหน้าบ้านให้มีประสิทธิภาพ รองรับความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ 2.บริหารจัดการกระแสเงินสดให้ถูกต้อง”

ล่าสุดได้รับเงินลงทุน 3 ล้านดอลลาร์ในการระดมทุนรอบ Series-A นำโดย Openspace Ventures เพื่อขยายสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต ส่วนขณะนี้ยังต้องโฟกัสที่ตลาดกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ พร้อมด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบให้กับ food supply chain platform ในประเทศ ประเทศ และเมื่อเป้าหมายที่วางไว้สำเร็จจึงจะต่อยอดสู่การโฟกัสตลาดต่างประเทศและดำเนินงานต่างๆ ในลำดับถัดไป