เมื่อ ‘ศาลไทย’ สามารถพิจารณาคดีออนไลน์

เมื่อ ‘ศาลไทย’ สามารถพิจารณาคดีออนไลน์

เมื่อวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ธุรกิจและผู้คนต้องปรับตัวและรูปแบบการดำเนินการต่างๆ เช่นเดียวกับ "ศาลไทย" ที่ต้องปรับการพิจารณาคดีในช่องทางออนไลน์ แล้วการพิจารณาคดีออนไลน์นี้สามารถทำได้กับคดีใดบ้าง? มีประเด็นที่น่าสนใจและข้อจำกัดอะไรบ้าง?

ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และนโยบาย Social Distancing ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมออนไลน์เพื่อก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ในทางกฎหมายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 จึงได้มีการบังคับใช้ “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” (ข้อกำหนดฯ) เพื่อเป็นทางเลือกในการอำนวยความสะดวกให้การพิจารณาคดีความของศาลสามารถกระทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้

  • การพิจารณาคดีสะดุดเพราะโควิด 

ที่ผ่านมา ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม แสดงให้เห็นว่าผลจากการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ศาลชั้นต้นทั่วประเทศจำเป็นต้องเลื่อนนัดพิจารณาคดีร่วม 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.2563) รวมจำนวนทั้งสิ้น 163,620 คดี ซึ่งในจำนวนคดีทั้งหมดนี้คดีผู้บริโภคและคดีแพ่งเป็นประเภทคดีที่ถูกเลื่อนมากที่สุดตามลำดับ

  • กรณีใดบ้างที่ศาลสามารถพิจารณาคดีออนไลน์

ข้อกำหนดฯ ระบุว่ามีสองกรณีที่ศาลสามารถพิจารณาเลือกให้มีการพิจารณาคดีออนไลน์ได้ กล่าวคือ 1.กรณีที่ศาลเห็นสมควร 2.กรณีที่คู่ความร้องขอ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาเมื่อมีการร้องขอ ศาลจะต้องใช้ดุลยพินิจเพื่อพิเคราะห์ว่าคดีดังกล่าวสมควรพิจารณาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ โดยให้คำนึงถึงความสะดวกและประหยัดของคู่ความประกอบด้วย หรืออีกนัยศาลจะต้องพิจารณาประกอบด้วยว่าคู่ความจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากน้อยเพียงใด และการพิจารณาคดีออนไลน์จะเป็นอุปสรรคในทางปฏิบัติของคู่ความฝ่ายใดหรือไม่ ทั้งนี้ รายละเอียดของประเภทคดีที่อนุญาตให้พิจารณาออนไลน์ รวมถึงหลักเกณฑ์ และวิธีการในทางปฏิบัติ สำนักงานศาลยุติธรรมจะประกาศกำหนดในรายละเอียดต่อไป 

 

  • ประเด็นสำคัญในการพิจารณาคดีออนไลน์ของศาลไทย

ประเด็นแรก เอกสารสามารถยื่น ส่ง และรับผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ กล่าวคือเอกสารต่างๆ ในสำนวนความ เช่น รายงาน/เอกสารที่ส่งต่อศาล ภาพถ่ายพยานเอกสาร/วัตถุ หลักฐานการรับจ่ายเงินที่เกี่ยวกับคดี รวมถึงข้อมูลที่ประมวลผลด้วยรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะต่างๆ สามารถดำเนินการผ่าน e-Mail หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่างๆ ได้ 

ประเด็นที่สอง สามารถจัดทำเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยข้อกำหนดฯ ได้ปรากฏหลักการของ e-Document ในมาตรา 8 ของกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยในข้อ 9 ของข้อกำหนดฯ ได้บัญญัติว่ากฎหมายจะยอมรับความสมบูรณ์ของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และรับรองให้มีสถานะเป็นหนังสือที่มีผลทางกฎหมายตามที่ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้นั้น จะต้องเข้าองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

1.ข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้โดยเข้าถึงได้ หมายถึงข้อความดังกล่าวสามารถอ่านได้ ตีความได้ หรือแปลความหมายให้เข้าใจได้

2.ข้อมูลดังกล่าวต้องนำกลับมาใช้ได้ คำว่านำกลับมาใช้ได้ในกรณีนี้ หมายถึงมาเปิดดูภายหลังได้ หรือสามารถดึงข้อมูลให้ปรากฏในภายหลังได้ (เช่น ข้อมูลเก็บไว้ใน Inbox ของอีเมล ที่สามารถเรียกดูได้ในภายหลัง)

3.ข้อมูลดังกล่าวต้องมีความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความหมายไม่เปลี่ยนแปลงในที่นี้เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าข้อมูลที่เก็บไว้นั้นไม่ถูกเปลี่ยนแปลงระหว่างทางนับแต่แรกสร้าง

ประเด็นที่สาม ศาลสามารถนั่งพิจารณาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ กล่าวคือข้อกำหนดฯ ได้เปิดช่องให้ศาลสามารถเลือกนั่งพิจารณาและบันทึกคำเบิกความโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ กล่าวคือหากศาลเห็นสมควร เราอาจได้เห็นการนั่งพิจารณาคดีผ่าน Video Conference อย่างที่มีตัวอย่างในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของ Video Conference คือ ในกรณีที่ศาลบันทึกคำเบิกความพยานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ text file คู่ความ/พยาน อาจไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ศาลต้องอ่านคำเบิกความให้พยานฟังเสมอ

ประเด็นที่สี่ ห้ามปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยาน กล่าวคือ หลักการเรื่อง “การห้ามปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้กฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดฯ ยังได้ล้อหลักการของกฎหมายธุรกรรมในการให้ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจในการ “ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวน่าเชื่อหรือไม่” โดยในการพิจารณา ศาลจะพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของลักษณะ วิธีการสร้าง และวิธีการเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นข้อพิจารณาได้ส่วนหนึ่งว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว “ไม่ถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง” ซึ่งในทางปฏิบัติศาลอาจพิจารณาพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประกอบด้วยก็ได้

นอกจากนี้ ข้อกำหนดฯ ยังได้ระบุวิธีการในทางปฏิบัติ โดยอนุญาตให้คู่ความที่ประสงค์จะใช้พยานหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ศาลกำหนด และไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาให้อีกฝ่าย เว้นแต่คู่ความฝ่ายนั้นไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้

ประเด็นที่ห้า คำพิพากษาออนไลน์ กล่าวคือ ในกรณีปกติ มาตรา 141 ของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดให้คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลต้องทำเป็นหนังสือ และต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้พิพากษาไว้ ดังนั้น ในกรณีของการพิจารณาคดีออนไลน์ เมื่อการพิจารณาเสร็จสิ้น ศาลสามารถทำคำพิพากษา/คำสั่งและใช้วิธีลงลายมือชื่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ได้ โดยให้ถือว่าเป็นการทำคำพิพากษา/คำสั่งที่ทำโดยใช้กระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น มีผลเช่นเดียวกันกับคำพิพากษาที่ทำในกรณีปกติและมีผลสมบูรณ์ตาม มาตรา 141 ข้างต้น

ประเด็นที่หก ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาสามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ และมีผลไม่ต่างจากการประชุมตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าแม้ “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์” เพิ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และจะยังมีประกาศในทางปฏิบัติอีกจำนวนหนึ่งที่จะออกตามมาในอนาคต แต่ก็นับว่าข้อกำหนดฉบับนี้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ทันสมัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมของไทยในโลกที่ไร้พรมแดนต่อไป

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)