HR แห่งโลกอนาคต ในมุม ‘Dave Ulrich’

 HR แห่งโลกอนาคต ในมุม ‘Dave Ulrich’

แม้ว่าทุกคนในเวลานี้ต้องเผชิญหน้ากับก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งยังเกิดวิกฤติโควิด-19ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก แต่กูรู HR ก็คือ “Dave Ulrich” เชื่อว่าพวกเรายังสามารถมองหาโอกาสจากวิกฤติได้ไม่ยาก ยังหามุมบวกได้แน่ๆ

ต้องบอกว่า "Dave Ulrich” ได้รับเชิญเป็นวิทยากรคนแรกของงาน “THAILAND HR FORUM 2020”(Virtual Conference) ที่จัดขึ้นโดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาพูดภายใต้หัวข้อ “The Future of HR”


ในฐานะของ HR ทำอย่างไรที่จะค้นหาโอกาสในสภาวะที่ยากและท้าทาย? กูรูท่านนี้บอกว่า ก่อนอื่น HR ต้องรู้ว่า HR มีหน้าที่บริการผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ผู้นำ ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย นักลงทุน ฯลฯ ทั้งต้องใช้หลัก Outside in เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม


เขาได้แนะนำหลักการ 5 ข้อ ที่จะนำไปสู่การค้นพบโอกาส หลักการข้อแรก ตอบสนองส่วนบุคคล เพราะคนแต่ละคนย่อมมีวิถีชีวิตที่ต่างกัน รวมถึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดที่แตกต่างกันด้วย จึงควรตอบสนองแบบลงลึกให้ถึงโจทย์ของแต่ละคน พร้อมทางเลือกว่าเขาอยากจะทำงานที่ไหน ทำอย่างไร มอบความรู้สึกห่วงใย ใส่ใจความรู้สึก ตั้งใจรับฟังว่าเขากำลังเผชิญหน้ากับอะไรอยู่ และช่วยทำหน้าที่สนับสนุนให้แต่ละคนได้สร้างแบรนด์ส่วนตัว สร้างความสามารถโดดเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง


หลักการที่สอง เนื่องจากเทคโนโลยียุคนี้อำนวยความสะดวกทำให้การทำงานดำเนินได้อย่างราบรื่น รวดเร็ว โลกการทำงานในเวลานี้จึงไม่ใช่เรื่องของสถานที่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องของกายภาพ เพราะทุกคนสามารถทำงานได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ในรถ หรือที่ร้านกาแฟ จึงไม่สำคัญว่าจะทำงานที่ไหนแต่ควรมุ่งในเรื่องคุณค่า มูลค่า ของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น


หลักการที่สาม เมื่อโลกตกอยู่ในภาวะวิกฤติที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ความไม่แน่นอน เขาเทียบว่าเหมือนกับการขับรถที่ต้องทำอะไรหลายอย่างไปพร้อม ๆกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย HR ต้องทำหน้าที่ดูแลคน ดูแลองค์กรภายในเวลาเดียวกัน ต้องระมัดระวังทั้งสองเรื่อง ต้องมองทั้งระยะสั้น ระยะยาว ดูบทเรียนในอดีต ทั้งต้องมองไกลไปในอนาคต ฯลฯ ประการสำคัญ HR ต้องจัดการทักษะส่วนบุคคลให้สามารถรับมือกับประเด็นปัญหาต่าง ๆได้ มีความเชื่อมโยงกับสังคมและยอมรับกับความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่น


หลักการที่สี่ มองหาประโยชน์จากความไม่แน่นอน โดยควบคุมความกลัว ความตื่นตระหนก ความเป็นจริงก็คืออนาคตเป็นเรื่องที่ไม่ใครหยั่งรู้ จึงไม่ควรไปทำนายหรือฟันธงว่าจะเกิดอะไรขึ้น และต้องไม่หวังลม ๆแล้ง ๆ ทางกลับกันก็อย่ายอมสิ้นหวัง และเปิดใจรับความไม่แน่นอนในวันข้างหน้าด้วยโอกาสและมีความหวัง ต้องมองหาทางออกที่สมจริงสมจัง ต้องจัดการความคาดหวังให้เหมาะสม ทำการทดลองเพื่อดูก่อนว่าอะไรที่สามารถควบคุมได้อะไรที่ควบคุมไม่ได้ เพื่อหาทางรับมือ


หลักการที่ห้า วิกฤติโควิดส่งผลให้ทุกๆอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบ ทำให้คนตกงาน เขาบอกว่าธุรกิจใด ๆก็ตามที่มีการแข่งขัน จำเป็นต้องมีทรัพยากรการเงิน มีกลยุทธ์ที่ดี มีผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดี นำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน แน่นอนต้องเป็นองค์กรที่ดีด้วย การเป็นองค์กรที่ดี ที่มีประสิทธิผล จะต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่างด้วยกัน คือมีคนเก่ง มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีภาวะผู้นำ สุดท้ายคือต้องมี HR ที่ดี


ในฐานะ HR ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรหรือองค์กรขนาดไหนก็ตาม จะมีคำถามสำคัญอยู่ 3 ข้อ ก็คือ มีคนเก่ง ที่เหมาะสมหรือเปล่า มีองค์กรที่ดีและมีผู้นำที่ใช่หรือเปล่า


ในแง่ของคนเก่ง ก็มีอยู่หลายแนวทางหลายปัจจัย เช่น การคัดเลือกคนที่ถูกต้องเหมาะสมมาอยู่ในองค์กรหรือไม่ ได้ทำให้เขาก้าวหน้า ได้เรียนรู้และเติบโตในวิชาชีพหรือไม่ เราเก็บคนเก่งไว้เอาคนที่ไม่เก่งออกไปจากองค์กรหรือไม่ เมื่อได้คนเก่งแล้วเขามุ่งมั่น เขาได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดหรือเปล่า ถ้าเขาตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดก็ต้องมีบทบาทจริง ๆในการขับเคลื่อน เมื่อได้คนเก่งเข้ามาทำงานก็ต้องทำให้เขาเกิดความรู้สึกดี ๆ รู้สึกเชื่อมโยงกับบริษัทเพราะที่สุดจะนำไปสู่การสร้างผลงานที่ดี สำหรับองค์กรที่ดีนั้น หมายถึงต้องเป็นองค์กรที่สามารถตอบสนองกับโอกาสที่เข้ามา หัวใจสำคัญก็คือ ต้องเป็นองค์กรที่ตอบสนองกับความต้องการตลาด


HR แห่งอนาคตควรเป็นอย่างไร? เขากล่าวถึงคุณสมบัติ ทักษะที่ HR จำเป็นต้องมีอยู่หลายเรื่องทั้งยังแบ่งเป็นหลายระดับ แต่สำหรับทักษะของ HR ในอนาคตนั้น มีดังนี้ -Information Asymmetry เก็บข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ -Separate signal/noise ต้องรู้ว่าควรต้องสนใจกับสัญญานไหน ต้องโฟกัสกับเสียงอะไร -Offer guidance ให้คำแนะนำ -Anticipatory solutions คิดหาทางออก -Social Citizenship นำองค์กรสู่การเป็นประชากรโลกที่ดีส่งมอบคุณค่าที่ดีต่อคน ชุมชน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ