ชิงสายสีส้มแสนล้าน 'BTS-BEM' แข่งเพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้า

ชิงสายสีส้มแสนล้าน 'BTS-BEM' แข่งเพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้า

“บีทีเอส” ลงสนามชิงรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก พร้อมสิทธิเดินรถทั้งเส้นบางขุขนนท์-มีนบุรี มั่นใจข้อเสนอ หนุนโครงข่ายรถไฟฟ้าสมบูรณ์ขึ้น “บีอีเอ็ม” ฉายเดี่ยวยื่นซองรายแรกพร้อมชงข้อเสนอพิเศษ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วานนี้ (9 พ.ย.) มีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR 2.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม จากมีผู้ซื้อซองทั้งหมด 10 ราย

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยว่า ได้ยื่นข้อเสนอในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR โดยมีพันธมิตร 3 ราย คือ BTSC เป็นลีดเดอร์กลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 

ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เคยเป็นพันธมิตรในกลุ่ม BSR ยื่นประมูลโครงการอื่นไม่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้ เพราะยังติดกระบวนการภายใน แต่ได้รับคำยืนยันว่ามีความประสงค์ที่จะร่วมเป็นพันธมิตรทำให้ยังใช้ชื่อกลุ่ม BSR ส่วนจะร่วมภายหลังได้หรือไม่นั้นต้องรอดูตอนชนะ อีกทั้งการเข้ามาเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังจากนี้ต้องให้ รฟม.พิจารณา

“เงื่อนไขการประมูลไม่สามารถบอกได้เพราะอยู่ระหว่างประกวดราคา การทำข้อเสนอของเราที่เตรียมมาวันนี้ทำเต็มที่ และยื่นครบ 4 ซอง ได้แก่ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองการเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม รวม 400 กว่าลัง วันนี้บีทีเอสพร้อมมาก เราเป็นคนทำงานก็ต้องมั่นใจเต็มที่”นายสุรพงษ์ กล่าว

บีทีเอสมั่นใจยื่นประมูล

สำหรับความมั่นใจการยื่นข้อเสนอครั้งนี้ กลุ่ม BSR ยืนยันว่าในฐานะผู้ทำงานมีความมั่นใจการยื่นข้อเสนอ ถึงแม้การกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการตามมาตรา 36 ยังไม่แน่ชัด เพราะ รฟม.ยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด แต่กลุ่ม BSR ไม่หนักใจหรือยุ่งยากในการเตรียมข้อเสนอ และได้นำข้อเสนอที่ดีที่สุดมายื่น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะช่วยสนับสนุนการเดินทางระบบรถไฟฟ้าให้เป็นโครงข่ายสมบูรณ์ขึ้น เพราะเชื่อมรถไฟฟ้าเกือบทุกโครงการ คือ สายสีเขียว สายสีชมพู สายสีเหลือง รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม BSR มั่นใจข้อเสนอที่ยื่นโดยเฉพาะด้านเทคนิค ยืนยันว่ามีคุณสมบัติตามเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) กำหนด ซึ่งซิโน-ไทยมีประสบการณ์การทำงานด้านขุดเจาะอุโมงค์มาแล้วหลายแห่ง เช่น อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี และอุโมงค์ระบายน้ำ

160492823519

บีอีเอ็มยื่นซองรายแรก

รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า รฟม.เปิดรับข้อเสนอในวันที่ 9 พ.ย.วันเดียว เวลา 9.00–15.00 น. โดยเวลา 9.39 น. ผู้แทนบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม เดินทางมาไหว้ศาลพระภูมิบริเวณหน้าอาคาร 2 ซึ่งเป็นจุดรับซองข้อเสนอโครงการ 

หลังจากนั้นเวลา 10.53 น.นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง บีอีเอ็ม ยื่นข้อเสนอรายแรก โดยนำเอกสารบรรทุกรถตู้และรถบรรทุกรวม 8 คัน ซึ่งบีอีเอ็มไม่ได้ระบุพันธมิตรร่วมทุน ส่วนข้อเสนอที่นำมานั้น ประกอบไปด้วย 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน และข้อเสนอเพิ่มเติม รวมกว่า 200 กล่อง

หลังจากนั้นเวลา 14.39 น.นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอในนามกลุ่ม BSR มีข้อเสนอมาครบทั้ง 4 ซอง บรรทุกในบรรทุก 6 คัน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กำหนดให้ผู้เป็นลีดเดอร์ต้องมีประสบการณ์จัดหา บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง รักษาระบบรถไฟฟ้าในระยะ 25 ปีนับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และมีเวลาดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการที่เป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ในประเทศ 

หวังสีส้มขยายโครงข่าย

ทั้งนี้ บริษัทที่เป็นลีดเดอร์ได้มี 2 ราย คือ BTSC และ BEM โดย BTSC รับสัมปทานรถไฟฟ้า รับจ้างเดินรถและร่วมลงทุนรถไฟฟ้า 4 โครงการ ได้แก่ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีชมพูและสายสีเหลือง ขณะที่ BEM รับสัมปทานเดินรถและรับจ้างเดนิรถ 2 โครงการ คือ สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง โดยถ้าใครได้รถไฟฟ้าสายสีส้มจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้ามากขึ้น

 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์–มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์–ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

โดยเอกชนผู้ชนะการประมูล นอกจากได้รับงานโยธาก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้ว ยังได้รับสิทธิ์บริหารการเดินรถไฟฟ้าตลอดเส้นทางช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งถือเป็นโอกาสในการต่อยอดโครงข่ายรถไฟฟ้า เนื่องจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นหลายแห่ง

ในส่วนของการเชื่อมต่อฝั่งตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ–มีนบุรี ประกอบไปด้วย 1.รถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 2.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว - สำโรง) ที่สถานีแยกลำสาลี และ 3 รถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีมีนบุรี

ขณะที่การเชื่อมต่อฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ประกอบไปด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ที่สถานีบางขุนนนท์ 2.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่สถานีศิริราช 3.รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 4.รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่สถานีราชเทวี 5.รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แอร์พอร์ต เรลลิงก์) ที่สถานีราชปรารภ