“สกพอ.-ทีโอที”หนุน5จี นำร่อง“อู่ตะเภา-บ้านฉาง”

“สกพอ.-ทีโอที”หนุน5จี  นำร่อง“อู่ตะเภา-บ้านฉาง”

การพัฒนาเทคโนโลยี 5จี จะมีความสำคัญในการยกระดับภาคการผลิต ภาคบริการและเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 5จี เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปใช้

สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับระบบสื่อสารและเทคโนโลยี 5G ในอีอีซี เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2563

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เงื่อนไขในการดึงดูดการลงทุนได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ไทยใช้จุดเด่นโครงสร้างพื้นฐานและแรงงานราคาถูก แต่ขณะนี้จุดเด่นดังกล่าวไม่สามารถสู้กับประเทศอื่นได้ 

รวมทั้งการที่ไทยเน้นลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงจึงต้องปรับตัว โดยนักลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจะมองโครงสร้างพื้นฐานรองรับเทคโนโลยีระดับสูงได้ ซึ่งกระทรวงดีอีเอส ร่วมกับ สกพอ.เร่งวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน 5จี รองรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ต้องใช้ระบบ 5จี ในการดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้ไทยมีจุดเด่นเหนือคู่แข่งชาติอื่น

เทคโนโลยี 5จี เป็นนวัตกรรมสำคัญจะช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการสรรค์สร้างบริการดิจิทัลให้กว้างขวางและครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้น ในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วสูงของสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้การใช้งานอุปกรณ์มีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะจูงใจให้เกิดการลงทุนในอีอีซี 

รวมทั้งปรับใช้ในด้านอื่น เช่น ด้านสาธารณสุขให้เข้าถึงการบริการรักษาการวินิจฉัยโรคแม่นยำด้านการเกษตรเพาะปลูกพืชได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมีมูลค่าสูงเก็บรักษาได้นาน เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งบริการ 5จี จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ชุมชนครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม สร้างงานสร้างโอกาส ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอีอีซีอย่างยั่งยืน

“สกพอ.ร่วมกับทีโอทีเตรียมความพร้อมให้บริการระบบ 5จี เต็มรูปแบบแก่ภาคอุตสาหกรรมและร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนรายอื่นๆ ในลักษณะการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ”

160492760417

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลคลื่นความถี่ 5จี ซึ่งทีโอทีได้คลื่นความถี่ 26 กิกะบิต ที่เป็นความถี่ระดับสูงเหมาะในการครอบคลุมพื้นที่ตึกสูงและพื้นที่เฉพาะ ทำให้เหมาะกับการนำไปในพื้นที่โรงงานและอาคาร 

ขณะที่ กสท ประมูลได้ความถี่ 700 เมกะเฮิร์ด เหมาะกับคลื่น 5จี ในพื้นที่วงกว้างครอบคลุมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและเมืองอัจฉริยะ ดังนั้นการทั้ง 2 บริษัทจะควบรวม ทำให้มีศักยภาพสูงเจาะตลาด 5จี ทุกระดับ และมีความเสถียรสูงสุดเหมาะสมกับการขยายระบบ 5จี ในอีอีซีรองรับการลงทุนในเทคโนโลยี 5จี ในอนาคต

“ระบบ 5จี จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทยและทั่วโลก ซึ่งจะเข้ามารองรับระบบแอลโอที เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ระบบหุ่นยนต์ และยานยนต์อัตโนมัติ"

การที่ไทยได้เปิดประมูล 5จี ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนประเทศอื่นในอาเซียน จะทำให้ไทยก้าวหน้าในด้าน 5จี มากที่สุดในภูมิภาคนี้ และจะดึงอุตสาหกรรมไฮเทคเข้ามาอยู่ในไทย รวมทั้งจะเกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ขึ้นมา ซึ่งเป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้ไทย โดยฉพาะในเมืองใหม่และสมาร์ทปาร์คในอีอีซี

ในอาเซียนประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นนำมากที่สุด คือ สิงคโปร์ แต่ในด้านการวางโครงข่าย 5จี ยังช้ากว่าไทย มีเพียง 2 บริษัทของสิงคโปร์ที่ประมูลคลื่น 5จีได้ และคาดว่าต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ในการวางระบบโครงข่ายให้ครอบคลุมทั้งเกาะสิงคโปร์ ในขณะที่ไทยได้เดินหน้าอย่างชัดเจนในการนำร่องวางระบบ 5จี ซึ่งจะทำให้ใน 1 ปี อีอีซีจะใช้ 5จีได้ ทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่ง

ส่วนความคืบหน้าของโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) จะเร่งขายซองทีโออาร์ได้ภายในปี 2563 และภายในปี 2564 จะได้ผู้รับเหมาโครงการ ในส่วนของดิจิทัลปาร์คเนื้อที่ 700 ไร่ ขณะนี้ในอาคารหลังแรกในก่อสร้างเสร็จแล้ว และกำลังก่อสร้างอาคารที่ 2 มีความคืบหน้าไปแล้ว 25%

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า พื้นที่นำร่องวางโครงข่ายระบบ 5จี จะมี 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.สนามบินอู่ตะเภท 2.อำเภอบ้านฉาง จ.ระยอง ซึ่งจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคต 3.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยทีโอทีจะวางโครงข่ายท่อร้อนสาย ไฟเบอร์ออพติก เสาส่งสัญญาณ 5จี และระบบอื่น ซึ่งจากนี้จะใช้เวลา 3 เดือนศึกษารายละเอียดแนวเส้นทางการวางท่อและเสาสังสัญญาณ จากนั้นจะก่อสร้างทันที ซึ่งช่วยรองรับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจด้านการแพทย์ และจะตั้งศูนย์รวมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ

นอกจากนี้ สกพอ.จะตั้งเขตส่งเสริมพิเศษ 5จี ที่อำเภอบ้านฉาง เป็นพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะมีพื้นที่ครอบคลุมระบบ 5จี กว่า 10 ตารางกิโลเมตร และจะขยายไปพื้นที่อื่นในอนาคต โดยจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติ เช่น สิทธิการเข้ามาอยู่อาศัยในไทย และใบประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ เนื่องจากจะเกิดการลงทุนของสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับ 5จี เป็นจำนวนมาก 

รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในไทย เนื่องจากระบบ 5จี ไม่เพียงแต่จะเพิ่มศักยภาพในโรงงาน แต่ยังเกื้อหนุนให้เกิดธุรกิจบริการชั้นสูงตามมาอีกมาก เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ระบบคราว ไอโอทีเซ็นเตอร์ โดยขณะนี้มีนักลงทุนทั้งสหรัฐและจีนสนใจลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ 5จี

สำหรับพื้นที่อำเภอบ้านฉาง จะนำร่องไปสู่เมืองอัจฉริยะ ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จาก 5จี อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องระบบอัจฉริยะภายในเมือง เช่น ระบบตรวจรถเข้าออก ระบบรักษาความปลอดภับ และการจราจร ซึ่งจะมีการศึกษาอย่างลงลึกว่าจะพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะด้านใดต่อไป