ยกระดับมาตรฐานการแพทย์ ดูแล 'ผู้ป่วยวิกฤติ'

ยกระดับมาตรฐานการแพทย์ ดูแล 'ผู้ป่วยวิกฤติ'

ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศไทยได้รับรองมาตรฐาน JCI (Joint Commission International) กว่า 66 แห่ง ความยากในยุค ที่บริการสาธารณสุขเป็นที่ต้องการและมีความสำคัญ จึงกลายเป็นความท้าทายของแต่ละ รพ. ที่ต้องรักษามาตรฐานให้คงที่หรือดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันถือเป็นโจทย์ยากมากขึ้นของรพ. ที่เปิดใหม่ในช่วงเวลานี้ เพราะในยุคโควิด-19 ไม่ใช่เพียงการรักษามาตรฐาน หรือ เพิ่มมาตรฐานให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มาใช้บริการ เป็นสาเหตุให้ รพ.เมดพาร์ค ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ที่มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาการดูแลคนไข้ และดูแลโรคซับซ้อน นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมกับดูแลบุคลากรให้ปลอดภัย ตั้งแต่ในอาคารสร้างแรงดันอากาศภายในเป็นบวก 6 เท่าของบรรยากาศภายนอก มีระบบฟิลเตอร์กรองอากาศ PM2.5

ผศ.นพ.มนต์เดช สุขปราณี อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค  กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลทั้งหลัง ต้องมองไปข้างหน้าด้วยการยึดเอาประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก และความปลอดภัยของคนทำงานทั้งแพทย์ และบุคลากร ภายในอาคารจึงต้องทำให้มีแรงดันเป็นบวก เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากสภาพแวดล้อมภายนอกเข้าสู่อาคาร 

มีระบบควบคุมความชื้นภายในตัวอาคารให้ต่ำกว่า 60% เพราะประเทศไทยมีความชื้นตลอดเวลา 75 – 85% ยิ่งหากอยู่ในช่วงมรสุมจะทำให้ความชื้นสูง นำมาซึ่งปัญหาความเสื่อมของอุปกรณ์ต่างๆ มีความเสี่ยงเกิดเชื้อราใน รพ. และเสี่ยงต่อการดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะคนไข้ที่ภูมิต้านทานอ่อนแอ การควบคุมความชื้นจึงสำคัญ ซุึ่งสามารถมอนิเตอร์ได้ทางอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ตัวเลขอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดเวลา 

“การสร้างโรงพยายาบาลขึ้นมาใหม่ในยุคนี้ ต้องมองไปข้างหน้า เพราะโจทย์ยากกว่าเดิม แต่ก็จะเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อโจทย์ยากกว่าเดิม จึงต้องพยายามค้นหา ลงทุน ในสิ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยให้กับคนไข้ค้นคว้านวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ รวมทั้งแพทย์และบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลแห่งนี้ ”ผศ.นพ. มนต์เดช กล่าว

มีการวิเคราะห์วิจัยมากมายว่า เชื้อดื้อยา เชื้อร้ายแรง มักหลบซ่อนอยู่บริเวณ “เตียงผู้ป่วย” ซึ่งเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดยาก แม้จะทำด้วยอุปกรณ์ที่ดีที่สุดเชื้อก็ยังหลงเหลืออยู่ โรงพยาบาลแห่งนี้จึงสร้างห้องล้างทำความสะอาดเตียง สามารถเข็นเตียงเข้าฆ่าเชื้อป้องกันเชื้อหลบซ่อน เพราะ มีหลักฐานทางการแพทย์ว่าผู้ป่วยที่มานอนเตียงถัดจากคนก่อน มักจะติดเชื้อของคนที่แล้วเข้าไปด้วย จึงเป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญ ว่าอุปกรณ์ที่ใช้กับคนไข้คนถัดไปต้องไม่มีเชื้อ

และอีกจุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ การป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อ ของผู้ป่วย ห้องความดันลบ จึงต้องสร้างทางเข้าทั้งภายในตัวอาคาร และ ภายนอกอาคาร โดยห้องแรงดันลบมีค่าสูงกว่ามาตรฐานซึ่งอยู่ที่ -2.5 พาสคัล รพ.หลายแห่งทำอยู่ที่ -5 พาสคัล แต่ที่นี่ อยู่ที่ - 7 พาสคัล เพื่อให้ดูดเอาเชื้อออกไปอย่างรวดเร็ว 

รวมถึง การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อจะถูกดูดออกไปผ่านการกรองอากาศ ฆ่าเชื้อด้วยยูวี ก่อนออกสู่ภายนอก เรียกว่าม่ีความปลอดภัยทั้งคนในอาคารและรอบๆ รพ. มี “ห้องผู้ป่วยหนักพิเศษ” สำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ แต่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งต้องการห้องที่มีแรงดันอากาศพิเศษ คือ มีทั้งแรงดันบวก และ แรงดันลบ อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทั้งหมด 4 ยูนิต ข้อดีคือ ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของไอซียู ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อใหม่เช่นกัน

พัฒนา “ห้องวีไอพี” พร้อมอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโดยไม่ต้องย้ายผู้ป่วย ทำให้ญาติสามารถดูแลอย่างใกล้ชิด นำชุด PAPR (Power Air Purifying Respiratory) ชุดป้องกันที่จะป้อนอากาศสะอาดปราศจากเชื้อมาตรฐานสากล เป็นนวัตกรรมจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการป้องกันเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลผู้ป่วยหนัก

ที่สำคัญมี "หอผู้ป่วยวิกฤติ" มีห้องไอซียูทั้งสิ้นกว่า 138 เตียง ห้องความดันลบ 4 ห้อง และปรับไว้ 2 เท่าของมาตรฐาน จากเดิมก่อนช่วงโควิด-19 รพ.ทั่วไปปรับไว้ที่ 6 เท่าของปริมาตรห้อง พอโควิด-19 มีการปรับขึ้นมา 12 เท่าของปริมาตรห้อง แต่ที่นี่ปรับไว้ที่ 15-20 เท่าของปริมาตรห้อง ทำให้การหมุนเวียนอากาศปลอดภัยยิ่งขึ้น

นพ. สิร สุภาพ” อายุรศาสตร์โรคไต กล่าวเพิ่มเติมว่าการฟอกเลือดในไอซียูใช้เครื่องกรองน้ำระดับห้องฟอกเลือดมาใช้ในไอซียู เพราะเชื่อว่าการฟอกเลือดด้วยน้ำสะอาดมากทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยสูงแม้จะลงทุนสูง พยาบาลต้องมีประสบการณ์การฟอกเลือดอย่างน้อย 15 ปี และแพทย์ทั้งหมดเรียนต่อเฉพาะทางจากต่างประเทศ

“สิ่งสำคัญคือการรักษาทางจิตวิญญาณ ดูแลจิตใจทั้งผู้ป่วยและญาติ เพราะคนทั่วไปเข้าใจว่าคนที่ป่วยเข้าไอซียู ไม่มีการโต้ตอบ  แต่เชื่อว่า การที่เราเห็นความสำคัญในการดูแลเรื่องความปวด ความเครียดในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นจากภาวะวิกฤติได้ง่ายขึ้น” นพ. สิร กล่าว

สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคยากหรือซับซ้อนส่วนใหญ่ต้องการไอซียู "นพ.วรการ วิไลชนม์" อายุรศาสตร์โรคปอด และ อายุรศาสตร์เวชบำบัดวิกฤต ระบุว่า โรคซับซ้อนที่มีมากกว่าหนึ่งโรคจะมีภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยอาจต้องการแพทย์มากกว่า 1 คน โดยโรคส่วนใหญ่ที่พบ เช่น ติดเชื้อรุนแรง หัวใจวาย อัมพฤกษ์อัมพาตเฉียบพลัน และมะเร็งที่มีภาวะแทรกซ้อน จึงต้องทำงานร่วมกันของแพทย์สหสาขา

ขณะเดียวกัน การรักษาเด็กที่ต้องเข้าไอซียู ยากกว่าการดูแลผู้ใหญ่ เพราะเด็กมีความเฉพาะตัว ไม่ว่าจะสัญญานชีพ ค่าความดัน และความสามารถของการสื่อสารของเด็กแต่ละช่วงอายุไม่เท่ากัน พญ.ณธิชา เศรษฐ์ธนา” กุมารเวชศาสตร์ ระบุว่า รพ. จึงต้องมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็ก และรู้ได้ว่าเด็กป่วยหนักต้องการความช่วยเหลือ การดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤติต้องอาศัยความร่วมมือทั้งเอกชนและรัฐ เพื่อให้มีจำนวนเตียงเพียงพอและดูแลเด็กได้

“ความจริงเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะเด็กที่ติดเชื้อทางเดินหายใจ ต้องผ่าตัด เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด และความพิการแต่กำเนิด ดังนั้น นอกจากการมีไอซียูเด็ก ต้องมีการทำงานร่วมกันตั้งแต่แผนกฉุกเฉิน (ER) หรือ แผนกผู้ป่วยนอก (OPD) เพื่อประสานงานให้ได้รับการรักษาได้เร็วที่สุด เป็นการอุดช่องโหว่ให้ผู้ป่วยเด็ก ได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น” พญ.ณธิชา กล่าวเสริม

160492046950