4 ทางรอด แก้วิกฤติสิ่งแวดล้อม

4 ทางรอด แก้วิกฤติสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว หากไม่ยับยั้ง บรรเทา ผลกระทบอาจแย่กว่าโควิด-19 ไม่ว่าจะเรื่องขยะ ภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้น สุดท้ายอาจไม่มีทรัพยากรให้ใช้ ความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทุกคนจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วม

วันนี้ (9 พฤศจิกายน) เอสซีจี จับมือ 180 พันธมิตร จากทุกภาคส่วน ที่มีจุดยืนเดียวกันในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ร่วมแถลงความคืบหน้าการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ในงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future เพื่อระดมความเห็นแก้ปัญหาให้กับประเทศ และประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ความเสี่ยงขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากโควิด-19 จากพันธมิตร 45 รายในปีที่ผ่านมา เป็น 180 รายในปีนี้

ข้อมูลจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้แทนนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาน้ำหมุนเวียน เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาหลาย 10 ปี วันนี้เรายังคงพูดปัญหาเดิม สถานการณ์น้ำในวันนี้ทวีความรุนแรงขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลก ดิน ฟ้า อากาศ ฝนทิ้งช่วงนาน สิ่งที่น่าห่วงที่สุด คือ การบริหารจัดการน้ำ ในแต่ละปี เราต้องการน้ำ 1.2 – 1.5 แสนล้านลบ.ม. แต่มีสถานที่รองรับได้ราว 8 หมื่น ลบ.ม. ขณะที่ เก็บจริงได้ราว 4 หมื่นลบ.ม. และปีหน้าจะเหลือเพียง 2 หมื่นลบ.ม. ถือเป็นเรื่องที่น่าวิตก

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่  เอสซีจี กล่าวว่า จากการร่วมพูดคุยกับพันธมิตร ได้ข้อสรุปถึงทางออก 4 ประเด็นหลัก ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. สร้างระบบน้ำหมุนเวียน ให้พร้อมรับวิกฤตแล้งรุนแรงในปีหน้า โดยสนับสนุนให้คนไทยพึ่งพาตนเองเรียนรู้การจัดรูปที่ดินและใช้เทคโนโลยี ควบคู่กับการให้ความรู้การเกษตรแก่เกษตรกรและคนกลับคืนถิ่นจากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 และเชิญชวนรัฐบาลร่วมขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ไปพร้อมกับที่ภาคเอกชนดำเนินการ เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน และเพิ่มผลผลิตเกษตรให้ไทยเป็นครัวโลกในที่สุด       

2. ส่งเสริมเกษตร “ปลอดการเผา 100%” ในปี 2022 (พ.ศ.2565) เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ลดโลกร้อน และสร้างรายได้ 25,000 ล้านบาทต่อปี โดยหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ เช่น ตอซังใบข้าว ใบอ้อย ซังข้าวโพด มาแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเกษตรกรไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของเอง ด้วยการจัดตั้งกองทุนชุมชน เสริมสร้างรายได้ที่มั่นคง

3. การยกระดับการจัดการขยะพลาสติกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงหรือเพิ่มเติมกฎหมายการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง มีโรดแมป มีเป้าหมายชัดเจน มีการทำงานที่เป็นรูปธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนดำเนินการไปพร้อมกัน (Plastic Waste Management System Roadmap) รวมถึงออกมาตรการสนับสนุนสินค้า รีไซเคิล และให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรีไซเคิลขยะพลาสติก                              

4.เศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เพื่อพลิกวงการก่อสร้างสู่ Green and Clean Construction โดยรัฐเป็นต้นแบบกำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดวัสดุเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด หรือการใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ และมอบสิทธิพิเศษทางภาษี 

ด้าน “ธนวงษ์ อารีรัชชกุล” ประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ระบุว่า สำหรับ เอสซีจี มี 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ และบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มสัดส่วนการเก็บกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างครบวงจร  

ธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดทั้ง Supply chain ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มการรีไซเคิล ได้มากขึ้น เช่น Mono-materials การพัฒนาเทคโนโลยีที่รีไซเคิล ขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่งเสริมการคัดแยก และรวบรวมของเสียกลับมาใช้ใหม่ ผ่านชุมชน    ไร้ขยะ และการจัดทำธนาคารขยะ โดยใช้ Digital Platform เป็นเครื่องมือในการจัดการ

และ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้ฉลาก “SCG Green Choice” ตั้งแต่การผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล สินค้าสำเร็จรูปที่ลด waste ในกระบวนการติดตั้ง สินค้าและบริการที่ลดการใช้พลังงานหรือนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น พลังแสงอาทิตย์ มุ่งไปสู่ ‘Green Living and Green Society’ รวมถึงการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ ‘Turn Waste to Wealth’ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หากคนไทยทุกคนไม่ช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ว่านโยบายจะดีแค่ไหน เข้มงวดแค่ไหน ท้ายที่สุด ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็จะกลับมา ดังนั้น การรักษาความสมดุล เป็นหัวใจสำคัญในการนำไปสู่ความสำเร็จ เป้าหมายที่ 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 การรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ขณะเดียวกัน BCG เป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่นำไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มุ่งการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดขยะ ลดของเสียหรือ Zero Waste โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน 4 ด้าน คือ ภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้แต่ละผลิตภัณฑ์ทนทานมากขึ้น นำมารีไซเคิล ลดขยะ ถัดมา คือ ด้านการใช้งานและบริโภค สนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง ผลักดันให้ทุกผลิตภัณฑ์มีข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ 3.การจัดการขยะ ของเสีย ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ ในบ้านเรือน ลดการฝังกลบ ส่งเสริมให้มีการรีไซเคิล และใช้หลัก 3R และ 4. ด้านการใช้วัสดุรอบสอง ส่งเสริมการรีไซเคิล อัพไซเคิล ทำงานร่วมกับ ภาครัฐ เอชน สังคม 43 หน่วยงาน ตั้งจุดรับคืนตั้งเป้า 300 จุดในปี 2563

“ขณะเดียวกัน โครงการรณรงค์ลดละเลิก พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ได้รับการตอบรับอย่างดี ทุกวันนี้คนไทยพกถุงผ้า พกกล่องข้าว กระป๋องน้ำมากขึ้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต้องหมุนเวียนสิ่งแวดล้อม อยู่กับความยั่งยืน ให้ทรัพยากรอยู่ถึงลูกหลาน และก้าวแรก คือ ตัวเรา ช่วยกันลด ละ เลิก การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สิ้นเปลือง ให้เมืองไทยเดินไปข้างหน้า คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน” วราวุธ กล่าว