ไวรัสตับอักเสบ B กลายพันธุ์ของ‘ตั้ว-ศรัณยู’ในมุม ‘หัทยา วงษ์กระจ่าง’

ไวรัสตับอักเสบ B กลายพันธุ์ของ‘ตั้ว-ศรัณยู’ในมุม ‘หัทยา วงษ์กระจ่าง’

เพื่อให้รู้ต้นสายปลายเหตุของมะเร็งตับมากขึ้น กรณีของ‘ตั้ว-ศรัณยู’ที่มีไวรัสตับอักเสบ B แฝงตัวในร่างกายมานาน เขาเองก็คิดว่า ถ้าดูแลตัวเองดีๆ ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ที่สุดแล้วมันกลายพันธุ์...

‘มะเร็งตับ’ เป็น 1 ใน 4 โรคที่คนไทยมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สูงกว่าโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบ และอุบัติเหตุๆ

“พี่ตั้ว-ศรัณยู เป็นไวรัสตับอักเสบ B เกือบ 30 ปีแล้ว พอแต่งงานจะมีลูก เราก็เช็คร่างกายอย่างละเอียด ตัวเปิ้ลเองตรวจแล้วมีภูมิคุ้มกันก็สบายใจ ส่วนพี่ตั้วก็เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือเปล่า ก็ไม่มี แล้วก็ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่เลย

 

ดูแลตัวเองอย่างดี ออกกำลังกาย เวลาน้ำหนักขึ้นก็พยายามลด อาจเป็นเพราะอาชีพนักแสดง กินอยู่ไม่ถูกสุขลักษณะทำงานตรากตรำ สุดท้ายไวรัสตับอักเสบ B ก็กลายพันธุ์ เราก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามาตอนไหน เป็นเพราะอะไร”

เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง ภรรยาของ ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง กล่าวถึงสาเหตุการเป็นมะเร็งตับของสามี ในงาน Voice of Liver #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, กรมการแพทย์, มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง, มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย

160490440682 หัทยา วงษ์กระจ่าง  

  • มะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร

“อัตราการเป็นมะเร็งตับของเราสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก คือ 21 รายต่อ 100,000 คน การรักษาในปัจจุบันยังได้ผลไม่ดี ต้องตรวจให้เจอตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเพื่อรักษาให้หายขาด แต่โรคนี้กว่าจะมีอาการก็มักเป็นเยอะแล้ว”นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าว

นายแพทย์จินดา บอกอีกว่า มะเร็งตับจะมีอยู่ 2 ประเภท "หนึ่งคือเซลล์มะเร็งตับ สอง มะเร็งท่อน้ำดี การรักษาก็แตกต่างกัน มะเร็งตับ สาเหตุหลักคือภาวะตับผิดปกติ ตับแข็ง เกิดได้จากหลายสาเหตุ การติดเชื้อไวรัส B หรือ C การดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับสารอะฟลาท็อกซิน (aflatoxin) สารเคมีที่ก่อมะเร็ง ส่วนมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากทานอาหารปนเปื้อนพยาธิใบไม้”

สถานการณ์มะเร็งตับในประเทศไทย ตั้งแต่ ค.ศ.1996-2018 มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยืนยันว่า มะเร็งที่พบมากที่สุดมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในผู้ชายอันดับหนึ่งคือ มะเร็งตับ ส่วนมะเร็งท่อน้ำดี จัดเป็นอันดับสองในผู้หญิง ในปี 2019 มีผู้เสียชีวิต 16,000 ราย

“ในรายงานของ Allemani (ค.ศ.2010) พบว่า อัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีของมะเร็งตับในประเทศไทยอยู่ที่ 6.9% ขณะที่ญี่ปุ่น 31.1% สิงคโปร์ 24.7% จึงต้องรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ขึ้น ลดค่านิยมการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน ทานอาหารถูกสุขอนามัย ไม่ทานปลาน้ำจืดที่มีพยาธิ” นายแพทย์จินดา กล่าว

ในส่วนของการรักษานั้น ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยมะเร็งตับรายละประมาณ 300,000 บาท ในรายที่ผ่าตัดไม่ได้จะประมาณ 500,000-600,000 บาท ถ้าครอบครัวไหนมีผู้ป่วยมะเร็งหนึ่งคน ก็จะมีผลกระทบต่อคนในครอบครัวทั้งหมด

  •  ต้องฟังเสียงตับ

หัทยา เล่าต่อว่า “พี่ตั้วเป็นคนรักษาสุขภาพมาก ตรวจเช็คร่างกายทุกปี อะไรที่เป็น Junk Food ในตู้เย็น เขาเอาทิ้งหมดเลย บอกว่าไม่มีประโยชน์ ทิ้งไปอย่าเสียดาย เรื่องออกกำลังกายก็วิ่งตลอด

พอรู้ว่าต้องเล่นเรื่องสุริโยทัย กล้ามหน้าอกต้องแข็งแรง ก็ Build Up ร่างกายอย่างดี แต่เราก็ไม่ทราบว่าสิ่งต่างๆ ที่เขาสะสมมา มันมีอะไรบ้าง จนเกิดอุบัติเหตุหกล้มในกองถ่าย แล้วมีอาการปวดไปทั้งตัว ขยับตัวไม่ได้ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย"

“พี่ตั้วตรวจสุขภาพประจำทุกปี พอปีพ.ศ. 2561-2562  เขาทำงานหนักมาก ไม่ได้ไปตรวจร่างกาย ทั้งๆ ที่ตับมีจุด 2-3 จุดเล็กๆ ไม่ใหญ่ขึ้น แต่การหกล้มในกองถ่าย ทำให้มีลิ่มเลือดในกระดูกและค่าตับก็สูงผิดปกติ เมื่อเอาชิ้นเนื้อตรงกระดูกข้อต่อที่สามไปตรวจก็พบว่ามีความผิดปกติ มันอาจจะลามมาจากตับก็ได้ เราก็ต้องตั้งสติ ทบทวนเรื่องราวว่าเป็นไปได้ยังไง ดูแลร่างกายอย่างดี”

160490445193

ครอบครัววงษ์กระจ่าง

หลังจาก ตั้ว-ศรัณยู รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 4 เดือน หัทยา บอกว่า อาการก็ดีขึ้น

“พี่ตั้วเข้าโรงพยาบาลเดือนตุลาคมปี 2562 มีการฉายแสง 10 ครั้งติดต่อกัน จนกระดูกเริ่มดีขึ้น หมอให้กลับบ้านได้ ปลายเดือนมกราคม พี่ตั้วขอคุณหมอไปทำงาน ออกกองถ่ายติดกันสองอาทิตย์เลย คิวสุดท้ายก่อนหยุดถ่ายทำ เนื่องจากไวรัสโควิดระบาด เขาก็ปวดขึ้นมาอีก ค่าตับก็ขึ้นๆ ลงๆ ปวดมากจนต้องให้มอร์ฟีน 

เขาเริ่มพูดอะไรแปลกๆ เช่น มีคิวถ่ายสุริโยทัย ทั้งที่ถ่ายจบไปนานแล้ว อาทิ พูดว่า วันนี้ต้องไปถ่ายที่ไหนบ้าง กองถ่ายมาพร้อมหรือยัง เราก็ไม่อยากขัดใจเขา รู้สึกว่าช่วงรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เขามีความสุข ได้นอนดูซีรีย์ ดูละคร ดูงานของตัวเอง แล้วก็จดไว้ว่าจะกลับไปทำอันนี้ยังไง"

  • ตรวจร่างกายช่วยได้

“คนเราต้องตรวจร่างกาย ถ้าเราคิดเองว่า เราแข็งแรง หรือคิดว่าครอบครัวเราไม่มีใครเป็นมะเร็ง เราใช้ชีวิตระมัดระวังแล้ว การเช็คร่างกายดีที่สุดค่ะ เพราะบางครั้งเราไม่ทราบเลยว่า ในร่างกายเรามีอะไรอยู่ บางทีกินดีอยู่ดีมากเกินไป ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยไปเสียทุกอย่างนะคะ 

อย่างพี่ตั้วคิดเองว่าเขาแข็งแรง เป็นแค่ไวรัสตับอักเสบ B แต่งงานมา 26 ปี ดูแลดีแล้ว มันไม่เป็นอะไรหรอก อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นแล้ว เราต้องเปิดใจยอมรับ บางทีมันอาจจะไม่สายเกินไป รักษาตั้งแต่ขั้นแรกให้หายขาดเลย ก็น่าจะดีที่สุด” เปิ้ล หัทยา ฝากถึงทุกคนด้วยความปรารถนาดี

ตัวเธอเองก็ไม่ได้เช็คร่างกายอย่างละเอียดเหมือนกัน เพิ่งจะมาเช็คหลังเสร็จสิ้นงานศพของสามี แล้วพบว่า “คอเลสเตอรอลสูง 200 กว่า ยังดีที่ออกกำลังกายเยอะ มันช่วยได้ คุณหมอบอกให้ดูแลเรื่องการรับประทานให้ดี”

160490452570 หัทยา วงษ์กระจ่าง 

สำหรับคนที่เป็นมะเร็งตับอักเสบ B หรือ C จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจเช็คร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ทุก 6 เดือนได้ยิ่งดี รศ.พญ.อาภัสณี โสภณสฤษฎ์สุข สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย บอกว่า ถ้าปล่อยให้ไวรัสตับอักเสบ B และ C เรื้อรังนานๆ  5-20 ปี จนเกิดภาวะตับแข็ง กลายเป็นมะเร็งตับได้ 

"ไวรัส B มีปัจจัยเสี่ยงมาจากกรรมพันธุ์, เพศสัมพันธ์ ส่วนไวรัส C มาจากสารเสพติด, การสัก, ฟอกเลือด ถ้าตรวจแล้วเจอก้อนเล็กๆ รักษาให้หายขาดได้ด้วยการตัดทิ้ง แต่ถ้าก้อนโตเกิน 5 ซ.ม.รักษาให้หายขาดไม่ได้ ต้องฉีดเคมีบำบัดเข้าในหลอดเลือด”  

“การรักษาแบ่งได้หลายระดับ ระยะ 0 เป็นก้อนเล็กๆ ตับทำงานไหว ให้ผ่าตัดออก ระยะ A มะเร็งไม่ใหญ่ แต่ตับทำงานไม่ไหว ให้ปลูกถ่ายตับ ส่วนระยะ B ฉีดเคมีบำบัดเข้าหลอดเลือด ยืดอายุได้ 2-3 ปี

ระยะลุกลามแพร่กระจาย ใช้เคมีบำบัดช่วยให้โรคนิ่ง ใช้ยายับยั้งเอนไซม์ทำให้โรคสงบ หรือให้ยาปรับภูมิคุ้มกันให้ไปต่อสู้กับมะเร็ง ช่วยยืดอายุได้เกือบหนึ่งปี แต่ไม่หายขาด ถ้าอยากให้หายขาดต้องเจอตอนที่ยังไม่ลุกลาม” รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าว